ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนพฤศจิกายน 2567
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 546.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 346.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 199.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 463.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 265.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.7 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 198.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 โดยภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 82.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว (สะสม) 11 เดือน (เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 5,691.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 3,663.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.4 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 2,028.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 11 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 4,810.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 2,968.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.5 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 1,841.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 881.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า ทุกรายการผลิตภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และมีเพียงผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (%MoM)
ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนพฤศจิกายน 2567 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 92.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดจีน สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซียในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0, 19.9 และ 2.9 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ (สะสม) 11 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 976.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดจีนและปากีสถาน เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 8.9 และ 29.1 ขณะที่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ลดลง (สะสม) ร้อยละ 3.2
ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนพฤศจิกายน 2567 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 44.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4, 16.8 และ 240.2 ตามลำดับ โดยข้อสังเกตในเดือนนี้ พบว่า การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดมาเลเซีย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 240.2 และมีส่วนแบ่งตลาดขยับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 9.3 (จากเดิมส่วนแบ่งตลาด คิดเป็นร้อยละ 2.5)
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 11 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 485.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดจีนและเวียดนาม เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 16.8 และ 53.0 ขณะที่การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ลดลง (สะสม) ร้อยละ 13.5
ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนพฤศจิกายน 2567 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567
การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 88.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดบังกลาเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 107.9 ขณะที่การส่งออกผ้าผืนของไทยไปยังตลาดเวียดนามและเมียนมา ลดลงร้อยละ 5.4 และ 6.6
และการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 11 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 925.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง (สะสม) ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากพิจารณาในรายตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกผ้าผืนของไทยไปยังตลาดเวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 2.4, 3.0 และ 27.9 ตามลำดับ
ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนพฤศจิกายน 2567 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567
การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 199.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกงในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.9, 3.5 และ 37.8 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 11 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,028.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 13.8, 5.2 และ 1.2 ตามลำดับ
ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีเพียงผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY)
ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนพฤศจิกายน 2567 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 105.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเส้นด้ายลดลงจากตลาดจีนและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 6.7 และ 19.7 แต่นำเข้าเส้นด้ายจากเวียดนามในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 11 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,286.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง (สะสม) ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเส้นด้ายลดลงจากตลาดเวียดนาม ลดลง (สะสม) ร้อยละ 6.9 ขณะที่ไทยมีการนำเข้าเส้นด้ายจากตลาดจีนและญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และ 1.0
ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนพฤศจิกายน 2567 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 159.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 และ 7.1 แต่นำเข้าผ้าผืนจากเวียดนามในเดือนนี้ ลดลงร้อยละ 9.8
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 11 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,682.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรกเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน เวียดนาม และไต้หวัน เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 7.9, 12.0 และ 4.0 ตามลำดับ
ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนพฤศจิกายน 2567 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 147.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และ 21.0 แต่นำเครื่องนุ่งห่มจากอิตาลีในเดือนนี้ ลดลงร้อยละ 6.0
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 11 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,362.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 15.3, 22.4 และ 3.0 ตามลำดับ
ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)
ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการส่งออกในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้
การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ในภาพรวม ลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดจีนและสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 12.4 และ 5.9 แต่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดอินโดนีเซียในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5
การส่งออกเส้นด้ายในภาพรวม ลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นและจีน ลดลงร้อยละ 0.7 และ 9.2 แต่การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดมาเลเซียในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 236.4
สำหรับการส่งออกผ้าผืนในภาพรวม ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเมียนมา ลดลงร้อยละ 13.9 แต่การส่งออกผ้าผืนของไทยไปตลาดเวียดนามและบังกลาเทศในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และ 4.3
และการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5, 6.7 และ 25.7 ตามลำดับ
ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)
และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการนำเข้าในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้
การนำเข้าเส้นด้ายในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าลดลงร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าเส้นด้ายลดลงจากตลาดจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ลดลงร้อยละ 3.9, 32.9 และ 9.0 ตามลำดับ
การนำเข้าผ้าผืนในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าลดลงจากตลาดเวียดนาม ลดลงร้อยละ 25.2 ขณะที่การนำเข้าผ้าผืนจากตลาดจีนและไต้หวันในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และ 21.1
และการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และอิตาลี เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2, 20.2 และ 1.2 ตามลำดับ
ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนพฤศจิกายน 2567 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567
สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีมูลค่า 546.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกในเดือนดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย พบว่า เพิ่มขึ้นเพียงตลาดเดียว คือ ตลาดสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.4 ขณะที่ภาพรวมการส่งออก (สะสม) 11 เดือน พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 โดยมีมูลค่าการส่งออก (สะสม) ที่ 5,691.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และจีน ตามลำดับ
สรุปการส่งออกในเดือนนี้ (เดือนพฤศจิกายน 2567) พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มเป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลจากการเข้าสู่ช่วงจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลท้ายปี บวกกับการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และการซื้อสินค้าเพื่อเป็นรางวัลให้ตนเองและเป็นของขวัญคึกคักมากขึ้น จึงส่งผลให้มีแรงซื้อสินค้าเข้ามามากขึ้นในช่วงท้ายของปีนี้ ขณะเดียวกันการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มในเดือนนี้ พบว่า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นผลจากเทศกาลและวันหยุดในช่วงปลายปี ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มความต้องการที่จะซื้อเสื้อผ้าใหม่เพื่อสวมใส่ในโอกาสพิเศษเหล่านี้ จึงส่งผลให้ความต้องการสินค้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย บวกกับผู้ค้าปลีกบางรายจะมีการจัดโปรโมชั่นและลดราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
-----------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
-----------------------------------------
จัดทำและเรียบเรียงโดย
ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม)
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
4 มกราคม 2568