หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2567

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2567

กลับหน้าหลัก
12.12.2567 | จำนวนผู้เข้าชม 366

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2567

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2567 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 12,706.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 15,415.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.16 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วย การส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 7,788.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 5.35 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนตุลาคม 2567 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 42.36 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2567

 ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2567

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.47 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.53 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 2,690.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยราคายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน อีกทั้งในเดือนตุลาคมราคายังทำสถิติสูงสุดที่ระดับ 2,777.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความกังวลในสถานการณ์ทาง เศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่น ทำให้นักลงทุนยังให้ความสำคัญกับการเก็งกำไรทองคำอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกองทุนทองคำ SPDR ที่มีการซื้อทองคำต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยเฉพาะเดือนตุลาคม ซื้อสุทธิ20.71 ตัน

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ใน สัดส่วนร้อยละ 26.33 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและ เครื่องประดับไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.75 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74 เป็นผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอิตาลี ตลาดในอันดับ 1-2 และ 4 ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.59, ร้อยละ 12.55 และร้อยละ 7.82 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดอันดับที่ 3 และ 5 อย่างสหราชอาณาจักร และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลดลงร้อยละ 13.58 และ ร้อยละ 5.24 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน ขยายตัวได้ร้อยละ 19.24 จากการส่งออกไปยังตลาดใน 3 อันดับแรก อย่าง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอินเดีย ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.07, ร้อยละ 15.48 และร้อยละ 91.05 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 4-5 ลดลงร้อยละ 2.17 และร้อยละ 2.92 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.14 เนื่องจาก การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อิตาลี และสหราชอาณาจักร ตลาดอันดับ 1 และ 3-5 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 175.12, ร้อยละ 33.67, ร้อยละ 19.35 และร้อยละ 5.02 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 2 อย่างญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 1.59

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 12.35 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยได้สูงขึ้นร้อยละ 5.46 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และ มรกต) เติบโตได้ร้อยละ 4.81 มาจากการส่งออกไปยังตลาด อันดับ 1-2 ทั้งฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และร้อยละ 6.48 ตามลำดับ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ตลาดอันดับ 3-5 หดตัวลงร้อยละ 15.48, ร้อยละ 0.42 และร้อยละ 7.37 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลงร้อยละ 0.18 จากการส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ตลาดอันดับ 3-4 ได้ลดลงร้อยละ 22.06 และร้อยละ 16.95 ส่วนตลาดอันดับ 1-2 และ 5 อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.99, ร้อยละ 4.34 และร้อยละ 7.39 ตามลำดับ  

เพชร  เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 6.86 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.89 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ลดลงร้อยละ 5.05 เนื่องมาจากการส่งออกไปยังฮ่องกง เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 และ 3-4 ได้ลดลงร้อยละ 6.45, ร้อยละ 16.34 และร้อยละ 27.53 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 2 และ 5 อย่างอินเดียและอิสราเอล ยังเติบโตได้ร้อยละ 20.10 และร้อยละ 16.38 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม  เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.72 ขยายตัวได้ร้อยละ 5.30 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 1-3 และ 5 อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยียม และสิงคโปร์ ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.31, ร้อยละ 6.18, ร้อยละ 130.94 และร้อยละ 21.28 ตามลำดับ ส่วนฝรั่งเศสตลาดอันดับที่ 4 ลดลงร้อยละ 8.67  

ตารางที่ 2  มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2566 และปี 2567

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2567 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยสามารถส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี เบลเยียม อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1-4, 6-7 และ 10 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.51, ร้อยละ 13.71, ร้อยละ 33.27, ร้อยละ 13.29, ร้อยละ 25.55, ร้อยละ 3.59, และร้อยละ 3.78 ตามลำดับ ส่วนสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นตลาดอันดับที่ 5 และ 8-9 ลดลงร้อยละ 6.87, ร้อยละ 6.52 และร้อยละ 10.89 ตามลำดับ

การส่งออกไป ฮ่องกง ที่เติบโตได้ดีนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12, ร้อยละ 12.55, ร้อยละ 6.99 และร้อยละ 6.18 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 6.45 

สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน (ที่มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 67) ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.59 และร้อยละ 20.07 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่าง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.48 และร้อยละ 4.34 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 27.53 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไป อินเดีย ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน (ที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 47) ได้สูงขึ้นร้อยละ 91.05 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 20.10, ร้อยละ 7.42 และร้อยละ 7.39 ตามลำดับ ขณะที่อัญมณีสังเคราะห์ ลดลงร้อยละ 55.96 

ส่วนการส่งออกไปยัง เยอรมนี ซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักมีสัดส่วนร้อยละ 75) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับทอง ได้สูงขึ้นร้อยละ 15.48, ร้อยละ 41.10 และร้อยละ 1.75 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.95, ร้อยละ 40.31 และร้อยละ 25.55 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไป เบลเยียม ที่ขยายตัวได้มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 130.94, ร้อยละ 150.80, ร้อยละ 8.92 และร้อยละ 48.29 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนซึ่งเป็นสินค้าหลัก ลดลงร้อยละ 16.34

ขณะที่การส่งออกไป อิตาลี ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60) ได้สูงขึ้นร้อยละ 7.82 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเงิน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.21 และร้อยละ 11.48 ส่วนพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 7.37 และร้อยละ 21 ตามลำดับ

การส่งออกไป ญี่ปุ่น ที่สามารถเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.52 รวมทั้งสินค้ารองลงมาอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 21.04, ร้อยละ 0.63 และร้อยละ 6.68 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ที่หดตัวลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 13.58, ร้อยละ 2.17, ร้อยละ 5.12, ร้อยละ 36.57 และร้อยละ 17.95 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนยังเติบโตได้ร้อยละ 172.20

ส่วนการส่งออกไป สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปรับตัวลดลงนั้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน เจียระไน เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้ลดลงร้อยละ 15.48, ร้อยละ 22.06, ร้อยละ 19.34 และร้อยละ 7.97 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับทอง ยังปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 23.61

สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีมูลค่าลดลง มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 65) ได้ลดลงร้อยละ 5.24 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลดลงร้อยละ 37.37 และร้อยละ 15 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ยังขยายตัวได้ร้อยละ 295.70, ร้อยละ 26.96 และร้อยละ 97.83 ตามลำดับ 

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2567

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมปีนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.32 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.55 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าของไทยที่เติบโตได้ดีคือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับเทียม

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2566 และปี 2567

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น ปัจจัยพื้นฐานของผู้บริโภคมีความแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตลาดแรงงานยังคงมีความยืดหยุ่นในหลายประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากการสร้างงานและอัตราการว่างงานที่ยังคงลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของครัวเรือนที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวและส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและกล้าใช้จ่ายมากขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจหลายประเทศในสหภาพยุโรป ขณะที่การเปลี่ยนผ่านของผู้นำสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังจากแนวนโยบายการใช้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษีเพื่อกดดันประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในลำดับต้น ๆ อย่างจีน แคนาดา เม็กซิโก และเวียดนาม ทั้งยังอาจขยายไปยังลำดับรองลงมารวมทั้งไทย ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังไม่คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ในเดือนสุดท้ายของปียังอยู่ในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าเป็นช่วงที่เกิดการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ

รายงานการวิจัยและการตลาดที่เผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2024 ตลาดเครื่องประดับอัจฉริยะหรือสมาร์ทจิวเวลรีทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นร้อยละ 18.7 ตั้งแต่ปี 2567-2573 โดยมีทั้งบริษัทที่เป็นแบรนด์เครื่องประดับและแบรนด์เทคโนโลยีขยายไลน์สินค้าเข้าสู่ตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น ดังเช่น ซัมซุงเปิดตัว Galaxy Ring ที่สามารถตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วิเคราะห์การนอนหลับ ซึ่งตัวแหวนผลิตจากไทเทเนียมหรือแบรนด์เครื่องประดับอื่น ๆ ที่ผลิตเป็นสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือ ผสมผสานเข้ากับการตรวจจับสุขภาพหรือเพื่อความปลอดภัยซึ่งแนวโน้มเครื่องประดับรูปแบบนี้ ตอบโจทย์ทั้งความสวยงามแบบเครื่องประดับและเทคโนโลยีที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งฝั่งสหรัฐ ยุโรป หรือเอเชีย ซึ่งอาจเป็นโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการในการเจาะตลาดด้วยการผสมผสานความงามของ เครื่องประดับและเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการใช้และสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้อย่างลงตัว

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ธันวาคม 2567


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

 

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2567, สะสม 10 เดือน, มกราคม-ตุลาคม, GIT Information Center