พาณิชย์ เผยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 61 ทำต้นทุนสินค้าขึ้นแค่ 0.0008%-0.1% ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.08% พร้อมปรับกรอบเงินเฟ้อปีนี้ใหม่อยู่ที่ 0.7-1.7% จากเดิม 0.6-1.6% ส่วนต้นทุนค่าแรงคาดเพิ่มขึ้น 0.07% ของจีดีพี ส่วนภาคส่งออกคาดกระทบต้นทุนเพิ่มขึ้น 0.022%
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 โดยเฉลี่ยพบว่าปรับขึ้น 3.4% หรือทำให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 305.44 บาท เป็น 315.90 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.50 บาท ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำสุด 0.0008% และสูงสุดอยู่ที่ 0.1% หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.05% ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนไม่มาก และผู้ผลิตจะใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้
โดยผลกระทบต่อเงินเฟ้อ พบว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.08% และทำให้กรอบคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิม 0.6-1.6% เพิ่มเป็น 0.7-1.7%
ส่วนผลกระทบต่อต้นทุนค่าแรงในภาคการผลิตและบริการจะเพิ่มขึ้น 10,006 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.07% ของจีดีพี โดยกลุ่มแรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากสุด คือ การก่อสร้าง การขายส่งและการขายปลีก, การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์, โรงแรมและบริการด้านอาหาร ส่วนภาคอุตสาหกรรม คือ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, การฟอกและตกแต่งหนังฟอก, เครื่องจักรสำนักงานโลหะขั้นมูลฐาน
ทางด้านผลกระทบต่อการส่งออก จะทำให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.022% หรือมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 167 ล้านบาทต่อปี โดยสาขาที่มีสัดส่วนต้นทุนเพิ่มมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การพิมพ์ เครื่องหนัง เครื่องแต่งกาย โลหะประดิษฐ์ และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และยานยนต์
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะนัดหารือภาคเอกชนทุกกลุ่มสินค้าอีกครั้ง เพื่อแจ้งให้ทราบว่าผลการวิเคราะห์ต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำกระทบต่อต้นทุนสินค้าเท่าไร และภาคเอกชนมีความเห็นอย่างไร ถ้าพบว่าไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า ก็จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายต่อไป
เรียบเรียง สุรเมธี มณีสุโข (อีเมล์ - suramatee@efnancethai.com)
อนุมัติ พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน
ที่มา: สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย - https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=FxbpWJm3ySk=&year=2018&month=1&lang=T&postdate=2018-01-18%2017:18