Thailand Leather and Shoes Industrial Profile
เรื่อง การรีไซเคิลเศษหนังและวัสดุเหลือใช้
ปัจจุบันทั่วโลกผลิตรองเท้ากว่า 21 พันล้านคู่ทุกปี แต่ในแต่ละปี รองเท้าเป็นพัน ๆ ล้านคู่จะถูกทิ้ง ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว มีการทิ้งรองเท้าไปกว่า 300 ล้านคู่ทุกปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 95 จะจบลงในขยะฝังกลบ ขณะเดียวกันรองเท้า sneaker หนึ่งคู่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 30 ปอนด์ และเนื่องจากรองเท้าดังกล่าวต้องทนทานต่อแรงต่าง ๆ มากกว่ารองเท้าทั่วไป จึงผลิตจากวัสดุพลาสติกทำจากปิโตรเลียม ซึ่งกระบวนการผลิตรองเท้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมาก หรือคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ส่วนฝ้ายในรองเท้า sneaker ก็เป็นอันตรายเพราะการผลิตฝ้ายก็ต้องใช้สารเคมี
โดยปกติหนังมีสัดส่วนการใช้ประมาณร้อยละ 60-65 ในอุตสาหกรรมรองเท้าที่เหลือประกอบด้วยยาง สิ่งทอ และเส้นใยสังเคราะห์ เป็นต้น รองเท้าส่วนใหญ่ผลิตด้วยวิธีดั้งเดิม ซึ่งจะประกอบด้วยวัสดุทำจากพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพในเวลาสั้นและกาวที่ไม่สามารถแตกตัวออกมาได้ง่าย รองเท้าอาจใช้เวลา 25 - 1,000 ปี ในการย่อยสลาย โดยรองเท้าทำจากวัสดุธรรมชาติใช้เวลา 25-80 ปี รองเท้าหนังใช้เวลา 25-40 ปี รองเท้ายางใช้เวลา 50-80 ปี วัสดุที่ได้จากไวนิลและปิโตรเคมี ใช้เวลา 500 ปี และวัสดุสังเคราะห์ทำจากพลาสติกอาจใช้เวลานานถึง 1,000 ปี ในการย่อยสลาย และเมื่อแตกตัวก็จะปล่อยสารเคมีที่มีพิษและก๊าซเรือนกระจกไปในอากาศและในดิน ในขณะที่พื้นรองเท้าจะย่อยสลายเป็นสารเคมี เช่น โพลิยูริเทน ซึ่งเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์ นอกจากนี้ กระบวนการเปลี่ยนรูปจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์เกิดขึ้นในระหว่างการผสมกับกรดและแอมโมเนียที่ปลดปล่อยออกมาในระหว่างการขจัดคราบหรือไอระเหยของตัวทำละลาย ส่วนสีย้อมจะปล่อยโลหะหนักที่เป็นอันตรายบ่อยครั้งผู้ผลิตจะทิ้งขยะที่เป็นของแข็งและของเหลวที่มีส่วนประกอบของเศษโครเมียม ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อมลภาวะในแหล่งน้ำ และทำให้คนงานหนังและชุมชนใกล้เคียงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ การสัมผัสโครเมียมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม หรือความเสี่ยงจากมะเร็งปอดและโครเมียมอาจลงไปอยู่ในดิน ทำให้ดินเป็นพิษเกินกว่าจะปลูกพืชผักเพื่อทำอาหารได้ นอกจากนี้ การผลิตรองเท้าใหม่จะต้องสกัดวัตถุดิบและต้องใช้พลังงาน ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก
รายละเอียดเพิ่มเติมตามไฟล์แนบ_'การรีไซเคิลเศษหนังและวัสดุเหลือใช้'
สนับสนุน โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
เรียบเรียง : สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม)
ภายใต้โครงการศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมแฟชั่น (อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567