สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2567
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 7,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 7,573.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.21 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออก ด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,555.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 8.48 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 14.76 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2567
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.84 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.61 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2,326.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีการเทขายทำกำไรระยะสั้นหลังจากราคาทองคำในตลาดโลกทำสถิติสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่ส่งผลฉุดราคาทองมาจากสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าแตะระดับ สูงสุดในรอบ 7 เดือน และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีหลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของของสหรัฐฯ เช่น ข้อมูลการส่งออกและการใช้จ่ายภาคประชาชนดีกว่าที่ประมาณการไว้เช่นเดียวกับการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและกองทุนทองคำ SPDR ที่มีการเทขายทองคำสุทธิตามตลาด
เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 29.88 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและ เครื่องประดับไทย ขยายตัวได้ร้อยละ 9.40 โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ เครื่องประดับทอง ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.81 มาจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดใน 2 อันดับแรกได้สูงขึ้นร้อยละ 10.42 และร้อยละ 26.91 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดอันดับ 3-5 อย่างสหราชอาณาจักรสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิตาลีลดลงร้อยละ 5.67, ร้อยละ 1.85 และ ร้อยละ 1.17 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน เติบโตได้ร้อยละ 19.56 จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย และสหราชอาณาจักร ตลาดอันดับที่ 1-4 ได้สูงขึ้นร้อยละ 19.07, ร้อยละ 15.90, ร้อยละ 124.28 และร้อยละ 3.30 ตามลำดับ ส่วนออสเตรเลีย ตลาดอันดับ 5 นั้น ลดลงร้อยละ 7.31 การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม หดตัวลงร้อยละ 36.25 เนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 1 และ 4 อย่างญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ได้ลดลงร้อยละ 6.14 และร้อยละ 13.51 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 2, 3 และ 5 ทั้ง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.94, ร้อยละ 43.20 และร้อยละ 341.44 ตามลำดับ
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 15.77 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.33 โดยสินค้าส่งออกหลักใน หมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และ มรกต) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.46 เป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1, 2 และ 4 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.37, ร้อยละ 3.12 และร้อยละ 11.80 ตามลำดับ ส่วนตลาดในอันดับ 3 และ 5 อย่างสวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี ลดลงร้อยละ 1.80 และร้อยละ 10.86 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวขึ้นได้ร้อยละ 5.81 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับ 1-2 และ 4-5 อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอินเดีย ได้สูงขึ้นร้อยละ 14.22, ร้อยละ 3.69, ร้อยละ 26.24 และร้อยละ 12.48 ตามลำดับ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ตลาดอันดับ 3 ลดลงร้อยละ 3.80
เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 9.02 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ขยายตัวได้ร้อยละ 5.39 โดย เพชรเจียระไน เป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.04 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง อินเดีย และอิสราเอล ตลาดสำคัญในอันดับ 1-2 และ 5 ได้สูงขึ้น ร้อยละ 8.86, ร้อยละ 72.52 และร้อยละ 6.50 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 3 และ 4 ทั้งเบลเยียมและ สหรัฐอเมริกา หดตัวลงร้อยละ 12.78 และร้อยละ 32.73 ตามลำดับ
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.04 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.19 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1-3 อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเบลเยียม ได้สูงขึ้นร้อยละ 33.58, ร้อยละ 22.23 และร้อยละ 667.54 ตามลำดับ ส่วนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 4 และ 5 ลดลงร้อยละ 7.74 และร้อยละ 7.67 ตามลำดับ
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2566 และปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2567 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยสามารถส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์เบลเยียม และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ อันดับ 1-5, 7 และ 10 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.52, ร้อยละ 8.63, ร้อยละ 64.96, ร้อยละ 9.08, ร้อยละ 9.04, ร้อยละ 51.61, และร้อยละ 3.28 ตามลำดับ ส่วนสหราชอาณาจักร อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับที่ 6, 8 และ 9 ลดลงร้อยละ 1.11, ร้อยละ 2.30 และร้อยละ 14.22 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไป ฮ่องกง ซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 13.37, ร้อยละ 8.86, ร้อยละ 26.91 และร้อยละ 14.22 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและ เครื่องประดับเงิน (ที่มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 65) ได้สูงขึ้นร้อยละ 10.42 และร้อยละ 19.07 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 และร้อยละ 3.69 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 32.73
สำหรับการส่งออกไป อินเดีย ซึ่งขยายตัวได้นั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 37) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.52 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 124.28, ร้อยละ 20.24 และร้อยละ 12.48 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์ ลดลงร้อยละ 50.06
ส่วนการส่งออกไปยัง เยอรมนี เติบโตได้เป็นผลจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (เป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนร้อยละ 78) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.90 และร้อยละ 11.27 ตามลำดับ ส่วนสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.01, ร้อยละ 28.53 และร้อยละ 19.25 ตามลำดับ
การส่งออกไป สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง ได้สูงขึ้นร้อยละ 53.29 ขณะที่สินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาทั้งพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 1.80, ร้อยละ 3.80, ร้อยละ 7.67 และร้อยละ 33.24 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 667.54, ร้อยละ 1,035.19, ร้อยละ 90.29 และร้อยละ 46.04 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนลดลงร้อยละ 12.78
ขณะที่การส่งออกไป ญี่ปุ่น ที่สามารถเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและสินค้ารองลงมาอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.60, ร้อยละ 14.88 และร้อยละ 6.90 ตามลำดับ
การส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ที่หดตัวลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลายรายการอย่างเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 5.67, ร้อยละ 5.97, ร้อยละ 43.46 และร้อยละ 21.87 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงินและเพชรเจียระไน ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.30 และร้อยละ 212.33 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไป อิตาลี ซึ่งลดลงนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 56) ได้ลดลงร้อยละ 1.17 รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 10.86 และร้อยละ 0.15 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเงิน ยังเพิ่มขึ้น ได้ร้อยละ 100.21 และร้อยละ 17.26 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีมูลค่าลดลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่าง เครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนราวร้อยละ 66) ได้ลดลงร้อยละ 2.22 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 47.35 และร้อยละ 17.28 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ยังเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 108.84 และร้อยละ 107 ตามลำดับ
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนปีนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.86 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.48 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.06 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าของไทยที่เติบโตได้ดีคือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2566 และปี 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น การบริโภคของภาคเอกชนในหลายประเทศที่ขยายตัวได้ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกาและยูโรโซน ขยับเข้าหาอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2 มากขึ้น แต่ยังเป็นการขยับแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งการปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2567 ของธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับปีก่อน แต่ยังคงเติบโตช้ากว่า อัตราที่เคยเติบโตในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 รวมทั้งคาดว่าในปีนี้ 1 ใน 4 ของประเทศกำลังพัฒนาจะยังคงยากจนกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2562 ขณะที่ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณา
สถานการณ์ในรอบครึ่งแรกของปีนี้ การส่งออกยังเพิ่มขึ้นได้จากหลายปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะการบริโภคในประเทศชั้นนำที่ยังคงมีแรงซื้อเข้ามา ร่วมกับการเก็งกำไรทองคำและพลอยสีเกรดเพื่อการลงทุนยังคงเป็นปัจจัยช่วยหนุนเสริม
ทุกวันนี้รอบตัวเรานั้น กลายเป็นสังคมที่ล้อมรอบไปด้วยการใช้งานผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับออนไลน์ (Digital Touchpoint) ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ในการรับรู้ข้อมูลสินค้า เปรียบเทียบตัวเลือกและสั่งซื้อสินค้าในเวลาและสถานที่ที่ใช้เวลาลดลง ผู้บริโภคจึงมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ธุรกิจต้องมีช่องทางออนไลน์ที่พร้อมให้บริการ ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านสื่อดิจิทัลจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกธุรกิจไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยจะใช้จ่ายสิ่งที่ จำเป็นและคุ้มค่าที่สุด (Loud Budgeting) ทำให้ผู้ประกอบการเผชิญกับการซื้อที่ลดลง ส่งผลกระทบกับยอดขายของภาคธุรกิจจากความเสี่ยงข้างต้น ผู้ประกอบการควรเน้นสร้างความมีคุณค่าของสินค้าควบคู่กับความคุ้มค่า ด้วยการนำเสนอเครื่องประดับที่มีคุณภาพดีในราคาที่สมเหตุสมผล นำเสนอการสวมใส่เครื่องประดับที่สวมใส่ได้หลายโอกาส โดยคงความมีสไตล์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้ นอกจากนี้ การทำตลาดร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีภาพลักษณ์ประหยัดและฉลาดเลือก มีการสาธิตวิธีการใช้เครื่องประดับให้คุ้มค่า จะสามารถตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2567
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”