"รายงานฉบับใหม่ขององค์กรไม่แสวงหากำไร Fashion Revolution ระบุว่า แบรนด์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดำเนินการไม่เร็วพอ ในการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และกำลังผลักค่าใช้จ่ายไปยังโรงงานที่ตนทำงานด้วย"
Fashion Revolution’s report argues many brands and retailers are “shifting the costs onto the factories they work with” rather than investing in renewable energy sources for their supply chains. Credit: Fashion Revolution.
รายงานชื่อ What Fuels Fashion ซึ่งเป็นรายงานพิเศษของดัชนีวัดความโปร่งใส (Transparency Index) ประจำปี ของ Fashion Revolution แนะนำว่า แบรนด์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุด ควรลงทุนอย่างน้อย 2% ของรายได้ประจำปีของตน ในการค่อย ๆ ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล
โดย Fashion Revolution ได้วิเคราะห์และจัดอันดับแบรนด์และผู้ค้าปลีกแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก 250 ราย ในการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้านการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและพลังงานของตน และระบุว่า การตั้งเป้าหมายเฉลี่ยในปัจจุบัน 18% “ไม่เป็นความทะเยอทะยานที่เพียงพอ” ที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายทั่วโลก ในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
คุณ Liv Simpliciano ผู้จัดการด้านนโยบายและวิจัยของ Fashion Revolution กล่าวในงานเปิดตัวรายงานดังกล่าวว่า เราทุกคนควรแสดงความโกรธอย่างมากที่แบรนด์ต่าง ๆ กำลังแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างขาดความโปร่งใส เพราะเห็นได้ชัดว่า สำหรับแบรนด์ส่วนใหญ่แล้ว เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความสำคัญลำดับแรก
รายงานดังกล่าวระบุว่า แบรนด์และผู้ค้าปลีกหลายรายกำลัง “ผลักค่าใช้จ่ายไปยังโรงงานที่ตนทำงานด้วย” แทนที่จะลงทุนในแหล่งพลังงานที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ในห่วงโซ่อุปทานของตน เพราะการผลักภาระทำให้คนงานและชุมชนต้องมาแก้ไขปัญหาในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ
Fashion Revolution ยังระบุว่า แบรนด์แฟชั่นใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่ล้มเหลวที่จะปกป้องคนงานในห่วงโซ่อุปทานของตน โดยมีเพียง 3% ของบริษัทที่ถูกวิเคราะห์ในรายงานที่เปิดเผยความพยายามในการสนับสนุนทางการเงินแก่คนงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแบรนด์เกือบ 1 ใน 4 ที่ถูกวิเคราะห์ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการลดระดับการปล่อยคาร์บอน (decarbonization) ของตน ซึ่งรายงานดังกล่าวระบุว่า “วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ความสำคัญลำดับต้น ๆ ของแบรนด์ต่าง ๆ ดังกล่าว” โดยมีเพียง 4 จาก 250 แบรนด์ ในรายงานที่ทำรายการเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในระดับที่สอดคล้องกับระดับที่เรียกร้องโดยสหประชาชาติ ในขณะที่อีก 42 แบรนด์ รายงานการปล่อยคาร์บอนตามขอบเขต 3 ที่กำลังสูงขึ้น (หมายเหตุ: การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรมีการแบ่งขอบเขตในการประเมินออกเป็น 3 ขอบเขต ได้แก่ ขอบเขตที่ 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ขอบเขตที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน และขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ)
การวิเคราะห์ดังกล่าว พบว่า 86% ของบริษัทแฟชั่นไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะเป้าหมายการเลิกใช้ถ่านหิน 94% ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะเป้าหมายการใช้พลังงานที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และ 92% ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ ในห่วงโซ่อุปทานของตน นอกจากนี้ น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของแบรนด์พบว่า มีความโปร่งใสเกี่ยวกับการจัดซื้อพลังงานของตนในระดับปฏิบัติการ และเพียง 10% ในระดับห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งไม่มีแบรนด์แฟชั่นใหญ่ ๆ รายใดที่เปิดเผยปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมงปัจจุบันในห่วงโซ่อุปทานของตน ดังนั้น การกล่าวอ้างการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ของแบรนด์แฟชั่นอาจ “ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ร้ายแรง ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่จริงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการปฏิบัติตามเป้าหมายการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รายงานดังกล่าวระบุ
นอกจากนี้ แบรนด์แฟชั่นส่วนใหญ่ (89%) ไม่เปิดเผยปริมาณเสื้อผ้าที่ผลิตในแต่ละปี และ 45% ไม่เปิดเผยรายได้ หรือฟุตพริ้นท์การปล่อยคาร์บอนจากการใช้วัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ที่ผลิต แม้แต่เสื้อผ้าที่ติดฉลาก “อย่างยั่งยืน” ก็อาจยังผลิตโดยใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยเพียง 11% ของแบรนด์แฟชั่นเปิดเผยแหล่งพลังงานในห่วงโซ่อุปทานของตน ถึงแม้ 58% จะเปิดเผยเป้าหมายวัสดุที่ยั่งยืนก็ตาม
รายงานดังกล่าวออกมา หลังจากที่โครงการความริเริ่มในการตั้งเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative หรือ SBTI) ได้เปิดเผยผลการทบทวนการใช้กิจกรรมการชดเชยคาร์บอน (carbon offsetting) หลังข้อเสนอที่มีข้อโต้แย้งในการอนุญาตให้นำกิจกรรมการชดเชยดังกล่าว ไปใช้ทดแทนการปล่อยคาร์บอนขอบเขต 3
แบรนด์ที่ได้คะแนนต่ำสุดในรายชื่อของ Fashion Revolution คือ แบรนด์ Aeropostale, BCBGMAXAZRIA, Beanpole, Belle, Billabong, Bosideng, Celio, DKNY, Fabletics, Fashion Nova, Forever 21, Heilan Home, KOOVS, Longchamp, Max Mara, Metersbonwe, Mexx, New Yorker, Nine West, Quicksilver, Reebok, Revolve, Roxy, Saks Fifth Avenue, Savage X Fenty, Semir, Smart Bazaar, Splash, Tom Ford, Tory Burch, Van Heusen และ Youngor ซึ่งแบรนด์เหล่านี้ทั้งหมด ได้คะแนน 0% จากการจัดอันดับในรายงานดังกล่าว และไม่มีแบรนด์ที่กล่าวถึงใด ๆ ที่ตอบกลับการขอทราบข้อคิดเห็นจากนิตยสาร Just Style ณ เวลาที่จัดทำรายงานดังกล่าว
สำหรับแบรนด์ Puma (75%), Gucci (74%), H&M (61%), Champion (58%), Hanes (58%), Calzedonia (52%), Intimissimi (54%), Tezenis (52%), Decathlon (51%), ASICS (50%), lululemon (50%), Hermès (49%) และ Adidas (49%) นั้น Fashion Revolution รายงานว่า แบรนด์และผู้ค้าปลีกประเภทเครื่องแต่งกายกลางแจ้ง/กีฬาและหรูหราเหล่านี้ ได้รับการจัดอันดับที่สูง ซึ่งองค์กรดังกล่าวมองว่า เป็นเพราะการกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทานที่ดีกว่า และการมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่ากับซัพพลายเออร์
จากผลของรายงานดังกล่าว ผู้บริโภคแฟชั่นได้รับการกระตุ้นให้ส่งอีเมล์ไปยังแบรนด์ที่มีชื่อปรากฎอยู่ในรายการดังกล่าว โดยเรียกร้องให้ “จ่ายเงิน ณ จุดที่ตนก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอน”
Fashion Revolution มีความชัดเจนว่า ในการเรียกร้องให้บริษัทแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุด ลงทุน 2% ของรายได้ของตนไปในการค่อย ๆ ยกเลิกการใช้พลังงานจากฟอสซิลนั้น ไม่ได้เรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ ออกค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศแต่เพียงอย่างเดียว แต่เรียกร้องให้จ่ายเงินอย่างยุติธรรมจากขนาดและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ตนได้ก่อขึ้น
คุณ Maeve Galvin ผู้อำนวยการนโยบายและการรณรงค์ทั่วโลกของ Fashion Revolution ระบุว่า ในการลงทุนอย่างน้อย 2% ของรายได้ไปกับพลังงานสะอาดที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และในการยกระดับทักษะและการสนับสนุนคนงานนั้น แบรนด์แฟชั่นสามารถลดผลกระทบของวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อม ๆ กับการลดความยากจนและความไม่เท่าเทียม ภายในห่วงโซ่อุปทานของตนและเสริมว่า ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้เพราะมีทางแก้ปัญหาและแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ก็มีเงินที่จะสามารถทำได้อย่างแน่นอน
-------------------------------------
Source: JustStyle.com
Photo credit: Fashion Revolution