ทำไมความร่วมมือระหว่างกีฬาและแฟชั่นจึงเป็นสูตรแห่งความสำเร็จ
ในขณะที่ผู้ชมทั่วโลกกำลังสนุกสนานกับการแข่งขันกีฬาที่ดำเนินอยู่ทั่วโลก นิตยสาร Just Style ได้ทำการศึกษาเรื่องการที่แบรนด์แฟชั่นกำลังร่วมมือกับวงการกีฬาเพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้
Carlos Alcaraz ของสเปน ผู้ที่ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจาก Nike แบรนด์รองเท้าและเสื้อผ้ากีฬาของสหรัฐฯ กำลังตั้งท่าถ่ายรูปกับถ้วยรางวัลชนะเลิศ Gentlemen’s Singles Trophy หลังชนะ Novak Djokovic จากเซอร์เบีย ในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน ประจำปี 2024 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2024 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
Credit: Photo by Julian Finney/Getty Images
จากการแข่งขันกีฬาทั่วโลกที่ดำเนินติดต่อกัน เช่น การแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันในอังกฤษ หรือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรปในเยอรมนี หรือการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูร้อน ที่กรุงปารีส แบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ กำลังใช้โอกาสในการเข้าไปมีส่วนในโลกกีฬา เพื่อให้ผู้คนมองเห็นมากขึ้น และเป็นการเพิ่มยอดขาย
การแข่งขันกีฬาทั่วโลก ทำให้แบรนด์แฟชั่นสามารถทำให้นักกีฬาแต่งตัวได้อย่างมีสไตล์ และขณะเดียวกันก็ดึงดูดฐานแฟนกีฬาทั่วโลกที่ต้องการครอบครองสินค้าล่าสุด หรือสวมรองเท้าและเสื้อผ้าอย่างเดียวกับนักกีฬาขวัญใจของตน ความร่วมมือระหว่างทีมและผู้เล่นกีฬา ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถใช้โอกาสของฐานแฟนกีฬาที่จงรักภักดีในการชักจูงให้มีการตัดสินใจซื้อ ซึ่งก็จะเป็นการขยายฐานผู้บริโภคต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Credit: Nike on X (formerly Twitter)
นักกีฬาถูกมองว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่สำคัญของวงการแฟชั่น เช่น Nike แบรนด์รองเท้าและเสื้อผ้ากีฬาของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ Alcaraz นักกีฬาเทนนิสอัจฉริยะจากสเปน อาจกล่าวได้ว่า Nike ตระหนักถึงความสำคัญของนักกีฬาอายุน้อยคนดังกล่าว โดยเสนอข้อตกลงสนับสนุน ที่กล่าวกันว่า มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งโดยปกติจะเสนอให้กับนักเทนนิสระดับตำนาน เช่น Roger Federer และ Rafael Nadal ซึ่งหากเป็นจริง Essentially Sports สื่อกีฬา ระบุว่า Nike กำลังพิจารณาที่จะสนับสนุนชุดเสื้อผ้าพิเศษที่เป็นของ Alcaraz
ขณะเดียวกัน แบรนด์แฟชั่นหรูก็กำลังร่วมมือกับแบรนด์กีฬา เช่น Nike x Jacquemus, Adidas x Prada และ The North Face x Gucci เป็นต้น
ไม่เพียงแต่แบรนด์รองเท้ากีฬาแฟชั่นที่มีชื่อเสียงเท่านั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ แบรนด์ เช่น On Running ซึ่งนับว่าค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบกับแบรนด์รุ่นเก่าในอุตสาหกรรม เช่น Nike และ Adidas ก็ได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญของนักกีฬาวิ่งทั่วโลก เช่น สนับสนุน Olli Hoare นักวิ่งจากออสเตรเลีย และ Hellen Obiri ดารานักกีฬาประเภทลู่จากเคนยา เป็นต้น
จากรายงานของ GlobalData ที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชุดกีฬาจะหันมาเติบโตสูงกว่าเสื้อผ้าทั้งหมด ในปี 2024 จากการที่เงินเฟ้อยังคงที่ ทั้งนี้ ในปี 2023 หลังเติบโตอย่างมากมา 2 ปี จากเทรนด์การนิยมสวมใส่เสื้อผ้าแบบลำลองและความสนใจที่มากขึ้นของผู้บริโภค ในส่วนของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดชุดกีฬาของสหราชอาณาจักรเติบโตเพียงร้อยละ 1.3 หรือที่มูลค่า 15.5 พันล้านปอนด์
ทั้งนี้ GlobalData ยังระบุว่า ที่ผ่านมา ผู้เล่นสำคัญ ๆ เช่น Nike และ Adidas ประสบกับยอดขายที่ลดลง ในขณะที่แบรนด์ชุดกีฬาที่สวมใส่สบายในชีวิตประจำวัน (athleisure) ใหม่ๆ เช่น Alo Yoga, Lululemon และ Tala ยังคงมีความต้องการ เพราะนักช้อปชอบความหลากหลาย ความคงทน และแบบของเสื้อผ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของแบรนด์ต่าง ๆ ดังกล่าว
คาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นจากปี 2024 เป็นต้นไป จากการที่ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และคาดว่าตลาดชุดกีฬาจะเติบโต 15.9% ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยจะมีมูลค่าสูงถึง 17.9 พันล้านปอนด์
จากการที่แบรนด์แฟชั่นกำลังร่วมมือกับวงการกีฬา อาจกล่าวได้ว่า ข้อดีมีมากกว่าข้อเสียมากเพราะท้ายสุดการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาและการสนับสนุนสามารถสร้างคุณค่าของชุมชนและความจงรักภักดีในหมู่ผู้บริโภคที่หลงรักทั้งแฟชั่นและกีฬา
-------------------------------------------------
ที่มาข้อมูล : JustStyle.com
Credit: 1) Photo by Julian Finney/Getty Images and 2) Nike on X (formerly Twitter)
------------------------------------------------
เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลฯ (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ