สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2567
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2567 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 4,126.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 4,115.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.80 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 2,513.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 13.36 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 38.54 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์2567
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2566 และปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.91 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 16.11 โดยราคาทองคำในเดือนมีนาคมปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 2,158 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยราคาทองคำปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,234 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้ โดยมีแรงหนุนจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ชี้ว่ามีโอกาสปรับลดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้เป็นแรงหนุนทางเทคนิคให้นักลงทุนมีการเข้าซื้อทองคำเพื่อทำกำไร รวมทั้งภาพรวมของกองทุนทองคำ SPDR เดือนมีนาคมซื้อสุทธิ 7.24 ตัน
เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 29.97 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและ เครื่องประดับไทยโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.11 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง เติบโตได้ร้อยละ 10.58 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับแรก อย่าง ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา กาตาร์ อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 41.33, ร้อยละ 19.35, ร้อยละ 27.35, ร้อยละ 8.54 และร้อยละ 0.61 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเครื่องประดับเงิน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.59 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย และสหราชอาณาจักร ตลาดสำคัญใน 4 อันดับแรกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.72, ร้อยละ 26.30, ร้อยละ 448.75 และร้อยละ 4.29 ตามลำดับ ส่วนออสเตรเลีย ตลาดอันดับที่ 5 ลดลงร้อยละ 15.62 ขณะที่การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม หดตัวลงร้อยละ 47.19 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับ 1 และ 4 อย่างญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ได้ลดลงร้อยละ 12.98 และร้อยละ 16.97 ตามลำดับ ส่วนฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ตลาดอันดับที่ 2-3 และ 5 ยังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 225, ร้อยละ 9.02 และ ร้อยละ 45 ตามลำดับ
พลอยสี พลอยสีเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 16.21 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.17 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.37 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดสำคัญในอันดับ 1-2 และ 5 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.60, ร้อยละ 15.82 และร้อยละ 19.22 ตามลำดับ ส่วนอิตาลีและฝรั่งเศส ตลาดอันดับที่ 3 และ 4 ลดลงร้อยละ 14.80 และร้อยละ 22.61 ตามลำดับ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.84 มาจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญในอันดับ 1-3 และ 5 อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอิตาลี ได้เพิ่มร้อยละ 53.87, ร้อยละ 23.97, ร้อยละ 112.62 และร้อยละ 1.61 ตามลำดับ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ตลาดสำคัญอันดับ 4 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.48
เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.83 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.02 โดยมีเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.54 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง อินเดีย และอิสราเอล ตลาดอันดับ 1-2 และ 4 ได้สูงขึ้นร้อยละ 25.17, ร้อยละ 36.03 และร้อยละ 16.41 ตามลำดับ ส่วนเบลเยียมและสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับ 3 และ 5 ลดลงร้อยละ 1.83 และร้อยละ 49.68 ตามลำดับ
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.93 เติบโตได้ร้อยละ 15.39 เป็นผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยียม และฝรั่งเศส ตลาดสำคัญใน 4 อันดับแรก ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.25, ร้อยละ 36.30, ร้อยละ 4,982.59 และร้อยละ 0.56 ตามลำดับ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดอันดับที่ 5 ลดลงร้อยละ 8.55
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2567 ขยายตัวได้ร้อยละ 13.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม สหราชอาณาจักร กาตาร์ และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.29, ร้อยละ 10.81, ร้อยละ 81.44, ร้อยละ 18.62, ร้อยละ 4.01, ร้อยละ 70.08, ร้อยละ 5.75, ร้อยละ 22.83 และร้อยละ 14.12 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับที่ 8 ลดลงร้อยละ 21.19
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้า ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2566 และปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การส่งออกไปยัง ฮ่องกง ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้ารองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 20.60, ร้อยละ 41.33 ร้อยละ 25.17 และร้อยละ 53.87 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน ปรับตัวลงร้อยละ 18.34
ส่วนการส่งออกไป สหรัฐอเมริกา ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ ทั้ง เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 62) รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 19.35, ร้อยละ 9.72, ร้อยละ 15.82 และร้อยละ 23.97 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 49.68
สำหรับการส่งออกไปยัง อินเดีย ที่สามารถขยายตัวได้ จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน และ เครื่องประดับเงิน (ที่มีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 75) ได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.03 และร้อยละ 448.75 ตามลำดับ รวมทั้งสินค้ารองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.17 และร้อยละ 23.94 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 35.59
มูลค่าการส่งออกไป เยอรมนี ซึ่งเติบโตได้นั้น เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักครองสัดส่วนถึงร้อยละ 78) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.30 รวมทั้งเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเทียมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.01 และร้อยละ 15.27 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 30.12 และร้อยละ 1.80 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไป อิตาลี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม และเพชรเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.54, ร้อยละ 1.61, ร้อยละ 9.59, ร้อยละ 183.85 และร้อยละ 125.79 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้อแข็งเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 14.80
การส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและ เนื้ออ่อนเจียระไนได้สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกน้อย รวมทั้งเครื่องประดับเทียมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 52) ลดลงร้อยละ 1.83
ส่วนการส่งออกไป สหราชอาณาจักร ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 79) และสินค้าสำคัญรองมาอย่างเพชรเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.33, ร้อยละ 4.29 และร้อยละ 118.10 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 13.17, ร้อยละ 37.11 และร้อยละ 38.03 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง กาตาร์ ซึ่งเติบโตสูงเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99.66) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.35
มูลค่าการส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง รวมทั้งสินค้าสำคัญ รองมาทั้งเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 24.61, ร้อยละ 31.73 และร้อยละ 28.69 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับแพลทินัม ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.98
ขณะที่การส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หดตัวลงจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 58.28 และร้อยละ 42.89 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับทอง พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ยังขยายตัวได้ร้อยละ 35.07, ร้อยละ 47 และร้อยละ 51.77 ตามลำดับ
แผนภาพที่ 1 แผนภาพแสดงตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2567 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 0.28 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.36 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับสุทธิขยายตัวได้ร้อยละ 13.30 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพชรเจียระไน เครื่องประดับเทียม ล้วนเติบโตได้ดี
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมในปี 2567 นั้น นักวิเคราะห์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เศรษฐกิจโลกยังมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวชี้วัดบ่งชี้ว่าเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยรายงานศักยภาพเศรษฐกิจโลกของ IMF ที่ประกาศเมื่อวันที่ 16 เมษายน ได้พยากรณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับการพยากรณ์เมื่อเดือนมกราคม โดยสหรัฐฯ ยังมีประเด็นอัตราเงินเฟ้อที่ยังลดลงน้อยกว่าที่คาด และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเติบโตลดลงจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 4 ปี 2566 เป็นร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายตัวเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และปัญหาค่าครองชีพ ยังเป็นประเด็น ที่กดดันเศรษฐกิจ โดยประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ ดีกว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา
ทั้งนี้ สถานการณ์ส่งออกในสองเดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสามารถเติบโตได้ดีในหลายตลาด เนื่องจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นด้านการบริโภคที่กลับมาสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่อยู่ในระดับขยายตัวต่อเนื่องจาก 50.7 มาอยู่ที่ ระดับ 51.5 รวมทั้งมีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศที่สำคัญ อย่างฮ่องกงและกาตาร์ ทำให้ดึงดูดการบริโภคเพิ่มขึ้นสอดรับกับช่วงเทศกาลต้นปี นอกจากนี้ ด้วยการเก็งกำไรทองคำที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ทั้งทองคำและเครื่องประดับทองเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกเพชรธรรมชาติรวมทั้งเพชรสังเคราะห์ ไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ต้องผ่านการตรวจสอบที่สำนักงานในเมืองแอนต์เวิร์ป เบลเยียม ซึ่งมีปัญหาคอขวดความล่าช้าเกิดขึ้น แม้ว่าทาง Antwerp World Diamond Centre จะแถลงล่าสุดว่า สามารถคลี่คลายปัญหาความล่าช้าได้ดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการควรสร้างความเข้าใจในการจัดทำข้อมูลให้ชัดเจน รวมทั้งเผื่อเวลาในการตรวจสอบตามขั้นตอนดังกล่าว นอกจากนี้ แนวทางการทำธุรกิจแบบเน้นการเพิ่มคุณค่าให้แบรนด์ ทั้งการนำเสนอสินค้าในมุมมองใหม่ ๆ การผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์สร้างความพึงพอใจและสามารถแก้ปัญหา (Pain Relievers) ให้ลูกค้าได้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์มีจุดขายชัดเจน สร้างคุณค่าที่แตกต่างจากรายอื่น ๆ สามารถเข้าถึงลูกค้าที่ต้องการสินค้าจริง ๆ ทั้งยังช่วยเพิ่มยอดขายอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพด้วย
ทั้งนี้ สถานการณ์ส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในหลายตลาด ทั้งจากการฟื้นตัวของหลายตลาดสำคัญที่พลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี เบลเยียม และสหราชอาณาจักร ทั้งยังได้แรงหนุนจากการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญหลายงานทั่วโลกที่ได้รับผลตอบรับที่ดี ทำให้ภาพรวมมีแนวโน้มเติบโต มากกว่าปีก่อน รวมทั้งโลหะมีค่าอย่างทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจต่อเนื่อง ทั้งยังมีโอกาสที่ราคาจะขยับเพิ่มขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ การตลาดเชิงสร้างสรรค์ด้วยการใช้ AI มาสร้างสรรค์ผลงานทางการตลาดไม่เพียงช่วยให้การสร้างงานต้นแบบ (Prototype) ได้รวดเร็วมากขึ้น ยังสามารถเป็นเสมือนเพื่อนร่วมคิดที่สอบถามให้คำแนะนำเพื่อเติมเต็มแรงบันดาลใจให้ได้รับไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างรูปแบบให้ตรงตามความคาดหวังของผู้บริโภคได้ด้วย เช่นเดียวกับการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยใช้การตลาดแบบ Influencer ยังคงเป็นเทรนด์ที่มาแรงในปีนี้ต่อไป เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการมากกว่าแค่ตรารับรอง แต่ต้องการความสัมพันธ์ที่จริงใจและน่าเชื่อถือจากผู้มีอิทธิพลหรือเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนไม่มากแต่ต้องมีความเชี่ยวชาญ ทั้งยังต้องมีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มลูกค้าของกิจการเป็นหลัก เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ติดตามได้สูง จะเป็นสองส่วนที่ช่วยผลักดันธุรกิจให้ได้ไม่ว่าเป็นธุรกิจระดับขนาดเล็ก กลาง หรือ ใหญ่ก็ตาม
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2566 และปี 2567
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤษภาคม 2567
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”