หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566

กลับหน้าหลัก
09.06.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 145

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566 ลดลงร้อยละ 18.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่า 6,575.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 5,390.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.86 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 2,667.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 5.35 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนเมษายน 2566 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 28.46 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566

 ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดใน 4 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนร้อยละ 50.52 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 32.64 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมมาอยู่ที่ระดับ 2,000.42 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) ซึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐผลักดันให้อุปสงค์ทองคำในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อราคาทอง อย่างความกังวลเรื่องวิกฤติสถาบันการเงินที่ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงิน อาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมทั้งมีประเด็นความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนคุกรุ่นเกิดขึ้นในเดือนนี้ ทำให้ราคาทองคำทำสถิติสูงถึง 2,048.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์เข้าใกล้ราคาสูงสุดตลอดกาลในปี 2020 ที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 24.99 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 14.21 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง ขยายตัวได้ร้อยละ 48.50 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง สิงคโปร์ อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตลาด อันดับ 2-5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 177.94, ร้อยละ 708.67, ร้อยละ 73.61 และร้อยละ 35.27 ตามลำดับ มีเพียงสหรัฐอเมริกาตลาดอันดับที่ 1 ลดลงร้อยละ 4.95 ส่วนเครื่องประดับเงิน มีมูลค่าลดลงร้อยละ 21.13 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดทั้ง 5 อันดับแรก ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และอินเดีย ลดลงร้อยละ 18.49, ร้อยละ 21.17, ร้อยละ 40.93, ร้อยละ 21.32 และร้อยละ 24.34 ตามลำดับ การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.37 จากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ฮ่องกงและสหราชอาณาจักร ตลาดหลักอันดับที่ 1 และ 4-5 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.94, ร้อยละ 88.79 และร้อยละ 34.74 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 2 และ 3 ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 14.08 และร้อยละ 18.89 ตามลำดับ

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 11.79 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 93.64 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) เติบโตได้ร้อยละ 89.92 เป็นผลจากจากการส่งออกไปยังตลาดใน 4 อันดับแรกอย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส ได้สูงขึ้นร้อยละ 616.13, ร้อยละ 28.46, ร้อยละ 50.75 และร้อยละ 40.65 มีเพียงสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับ 5 ที่ลดลงร้อยละ 64.04 ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 124.46 เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และอินเดีย ตลาดใน 5 อันดับแรก ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 428.59, ร้อยละ 50.19, ร้อยละ 5.63, ร้อยละ 172.74 และร้อยละ 80.11 ตามลำดับ 

เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.06 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 35.50 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ปรับตัวลงร้อยละ 35.56 สืบเนื่องจากการส่งออกไปยังเบลเยียม อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับ 2-3 และ 5 ได้ลดลงร้อยละ 13.87, ร้อยละ 83.92 และร้อยละ 53.53 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฮ่องกงและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตลาดอันดับที่ 1 และ 4 ยังขยายตัวได้ร้อยละ 65.38 และร้อยละ 37.46 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.67 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 14.77 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับ 1 และ 3-5 อย่างสหรัฐอเมริกา ลิกเตนสไตน์ ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ได้ลดลงร้อยละ 15.79, ร้อยละ 34.28, ร้อยละ 13.31 และร้อยละ 0.31 ตามลำดับ ขณะที่ฮ่องกงตลาดอันดับที่ 2 ยังเติบโตได้ร้อยละ 3.02 

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2566 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยบวกหลายประการอย่างมีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับหลายงานในหลายประเทศเช่น Tucson Winter Gem & Jewelry Show (24 มกราคม-4 กุมภาพันธ์), Jewellery, Gem & Technology IN Dubai (6-8 กุมภาพันธ์), Doha Jewellery & Watches Exhibition 2023 (20-25 กุมภาพันธ์), HKTDC Hong Kong International Jewellery Show ครั้งที่ 39 และ HKTDC Hong Kong International Diamond, Gem & Pearl Show ครั้งที่ 9 (1-5 มีนาคม), India Gem & Jewellery Show 2023 (7-10 เมษายน) และ Yamanashi Jewellery Fair 2023 (12-14 เมษายน) เป็นต้น ขณะที่ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในระดับเหมาะสมต่อการส่งออก รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญหลายประเทศทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งยังได้รับอานิสงส์จากการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ช่วยสร้างบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยจากนักท่องเที่ยวกลับคืนมา ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาต่อการบริโภค โดยเฉพาะตลาดสำคัญต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออก สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังเติบโตได้ โดยไทยส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิตาลี และสิงคโปร์ ตลาดสำคัญอันดับ 1 และ 5-7 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 169.19, ร้อยละ 43.62, ร้อยละ 61.47 และร้อยละ 93.39 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย สหราชอาณาจักร เบลเยียม และญี่ปุ่น ตลาดในอันดับ 2-4 และ 8-10 ลดลงร้อยละ 10.58, ร้อยละ 20.53, ร้อยละ 69.94, ร้อยละ 20.45, ร้อยละ 16 และ ร้อยละ 3.93 ตามลำดับ

 ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้า ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

การส่งออกไปยัง ฮ่องกง มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการสูงขึ้น ได้แก่ พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน ล้วนขยายตัวได้ร้อยละ 616.13, ร้อยละ 428.59, ร้อยละ 65.38, ร้อยละ 177.94 และร้อยละ 38.77 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ขยายตัวได้ดีนั้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงินได้สูงขึ้นร้อยละ 35.27 ร้อยละ 37.46, ร้อยละ 255.93, ร้อยละ 2.19 และร้อยละ 105.11 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง อิตาลี ที่เติบโตได้ดีนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนร้อยละ 57) ได้สูงขึ้นร้อยละ 73.61 รวมทั้งสินค้าสำคัญ รองมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และ เครื่องประดับเงิน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.75, ร้อยละ 172.74 และ ร้อยละ 80.90 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยัง สิงคโปร์ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น สืบเนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง (ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 60) และเครื่องประดับแพลทินัมได้สูงขึ้นร้อยละ 708.67 และร้อยละ 88.94 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียมและเครื่องประดับเงิน ลดลงร้อยละ 46.75 และร้อยละ 35.44 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่หดตัวลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน (ที่มีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 63) ลดลงร้อยละ 4.95 และร้อยละ 18.49 ตามลำดับ รวมถึงเพชรเจียระไนสินค้าสำคัญถัดมาก็มีมูลค่าลดลงร้อยละ 53.53 ส่วนพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน สินค้าสำคัญรองลงมายังเติบโตได้ร้อยละ 28.46 และร้อยละ 50.19 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่ปรับตัวลดลงนั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนร้อยละ 71) ได้ลดลงร้อยละ 21.17 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับทองที่ลดลงร้อยละ 11.97 และร้อยละ 29.28 ตามลำดับ

การส่งออกไปยัง อินเดีย ที่ลดลงนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 43) ได้น้อยลงร้อยละ 83.92 รวมถึงสินค้าสำคัญรองลงมาทั้งเครื่องประดับเงินและอัญมณีสังเคราะห์ ซึ่งลดลงร้อยละ 24.34 และร้อยละ 11.08 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.01 และร้อยละ 80.11 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ที่หดตัวลงนั้น เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับเงินและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 40.93 และร้อยละ 49.23 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.05

สำหรับการส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งมีมูลค่าลดลงนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (มีสัดส่วนถึงร้อยละ 88) ได้ลดลงร้อยละ 13.87 ส่วนสินค้ารองลงมาอย่างเครื่องประดับทองและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ยังขยายตัวได้ร้อยละ 56.03 และร้อยละ 42.48 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ที่ย่อตัวลงนั้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญทั้งเครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม และเพชรเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 1.91, ร้อยละ 14.08 และร้อยละ 25.62 ตามลำดับ

แผนภาพที่ 1 งตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปีนี้มีมูลค่าลดลงร้อยละ 18.01 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่า การส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิ ลดลงร้อยละ 0.12 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าที่ยังเติบโตได้ดีของไทย คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน

 ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยนักวิเคราะห์จาก IMF ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะถูกแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ โดยแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบการค้า ระบบการชำระเงิน และมาตรฐานทาง เทคโนโลยีเป็นของตัวเอง โดยไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มอื่น ทั้งยังมีสัญญาณจากประเทศในตะวันตกเคลื่อนไหวเพื่อลดการพึ่งพาจีน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจโลกในหลากหลายรูปแบบและทำให้จัดการแก้ไขปัญหาที่มีร่วมกันทำได้ยากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ด้วยปัญหาวิกฤตการเงินของสถาบันการเงินและปัญหาเพดานหนี้รวมทั้งดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ เช่น ดัชนีภาคการผลิตหดตัว อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น เริ่มชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง ด้านการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นในอนาคตและจะกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม ส่วนยูโรโซนยังได้รับแรงกดดันของระดับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำกดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่มีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่จีนยังมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้ากว่าที่คาด

ดังนั้น การดำเนินการของผู้ประกอบการควรหาโอกาสกระจายตลาดให้มีความหลากหลายลดการพึ่งพาตลาดหลักเพียงแห่งเดียวมากเกินไป โดยตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจในการทำตลาด ทั้งยังต้องรักษาแนวทางการทำตลาดออนไลน์ไว้ให้ต่อเนื่อง เพราะธุรกิจ E-commerce ยังสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แนวทางการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ Go Green Go Fast และ Go First คือ เน้นการรักษ์และเป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์ที่รวดเร็วฉับไวในการตอบโจทย์ ผู้บริโภค และเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ หรือมีผลิตภัณฑ์ในไลน์สินค้าใหม่ๆ ก่อนคู่แข่งจะเป็นแนวทางที่เข้ากับตลาดในยุคนี้ได้เป็น อย่างดี

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มิถุนายน 2566


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2566, สะสม 4 เดือน, มกราคม-เมษายน, เมษายน 2566, GIT Information Center