หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / วิกฤตพลังงานแอฟริกาใต้กระทบอุปทานแพลทินัมโลก

วิกฤตพลังงานแอฟริกาใต้กระทบอุปทานแพลทินัมโลก

กลับหน้าหลัก
23.04.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 143

วิกฤตพลังงานแอฟริกาใต้กระทบอุปทานแพลทินัมโลก

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีความสำคัญทั้งในแง่ของการเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกา ทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ อย่างเช่น ทองคำ แพลทินัม เพชร ถ่านหิน แร่เหล็ก เป็นต้น ในช่วงที่ผ่านมาแอฟริกาใต้ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาอุทกภัย และไฟฟ้าดับ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมานั้น ปัญหาไฟฟ้าดับหลายครั้งสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง สาเหตุสำคัญเกิดจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานทั้งประเทศ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจ Eskom ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าเกือบทั้งประเทศ เกิดปัญหาขัดข้องบ่อยครั้ง จากการขาดการการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ไม่มีการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ และการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีหนี้สินสะสมสูงถึง 23.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การดำเนินการต่างๆ จึงเป็นไปได้ยากเนื่องจากขาดเงินทุน ส่งผลต่อทั้งภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน ทั้งยังก่อให้เกิดวิกฤตต่อผลผลิตโลหะมีค่า ซึ่งแอฟริกาใต้นั้นเป็นผู้ผลิตแพลทินัมในสัดส่วนมากกว่า 70% ของการผลิตทั่วโลก และเป็นผู้ผลิตพาลาเดียมในสัดส่วนราว 40% ของการผลิตทั่วโลก

จากเหตุดังกล่าว บริษัทผู้ผลิตแพลทินัมรายใหญ่ในแอฟริกาใต้ อย่าง Impala Platinum Holding ได้ให้ความเห็นว่า ถ้าเหตุการณ์นี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ปีนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายกว่าปีที่ผ่านมา โดยอาจต้องลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังไฟฟ้าที่มีจำกัด ซึ่งเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราอาจจำเป็นต้องหยุดส่งคนงานเข้าไปทำเหมือง ขณะที่ Anglo American Platinum ต้องเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อบริหารความเสี่ยงและการอพยพคนงานเหมืองอย่างปลอดภัยในช่วงที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ 

ภาพเมืองโจฮันเนสเบิร์กที่ได้รับผลกระทบจากการตัดไฟฟ้า ที่มา https://edition.cnn.com

ทางด้านบริษัทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจอย่าง UBS Group ให้ข้อมูลว่า ปี 2022 ปริมาณการผลิตแพลทินัมในแอฟริกาใต้ลดลง 6% ซึ่งจากการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าอาจส่งผลต่อการผลิตไปอีกหลายปี ขณะที่ปริมาณแพลทินัมทั้งการผลิตใหม่และการรีไซเคิลในปี 2023 นี้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ สวนทางกับอุปสงค์ที่มีเพิ่มมากขึ้น จะผลักดันราคาแพลทินัมให้สูงขึ้น โดยคาดว่า ราคาแพลทินัมจะอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในเดือนธันวาคมปี 2023 (ราคาเฉลี่ยในเดือนมีนาคม 2023 อยู่ที่ 971.12 ที่มา https://www.kitco.com)

แม้ว่าสถานการณ์ล่าสุด ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ผู้นำแอฟริกาใต้ ได้ประกาศภาวะภัยพิบัติระดับชาติ เพื่อพยายามเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าครั้งใหญ่ รวมทั้งจะแบกรับหนี้ของ Eskom ราว 13.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 60% ของหนี้ทั้งหมด รวมทั้งดำเนินมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม แต่ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์ว่า GDP ของแอฟริกาใต้ในปีนี้จะโตเพียง 0.9% 

แพลทินัมนั้น มีการนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับที่มีการนำแพลทินัมมาใช้เป็นวัตถุดิบอย่างแพร่หลาย จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ย่อมกระทบทำให้อุปทานไม่เพียงพอต่อการบริโภคและทำให้ราคาถีบตัวสูงขึ้นได้ อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะเวลาอันสั้นอีกด้วย 

---------------------------------------------------

โดย คุณพุทธิพร วิชัยดิษฐ

      สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ที่มา: https://infocenter.git.or.th/business-news/business-news-20230418 

---------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง

1) Rapaport. 2023. South Africa’s top miner fears blackouts will threaten platinum supply. [Online]. Available at: https://www.thenationalnews.com. (Retrieved March 23, 2023). 

2) Energy Capital and Power. 2023. Eskom Receives $13.9 Billion in Debt Relief from South African Government. [Online]. Available at: https://energycapitalpower.com. (Retrieved March 23, 2023).

3) CNBC. 2023. Power cuts, war, and hybrid cars are predicted to cause a platinum price surge in 2023. [Online]. Available at: https://www.cnbc.com/2023/03/15. (Retrieved March 23, 2023).


*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

ภาวะอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน), GIT, วิกฤต, พลังงาน, แอฟริกาใต้, แพลทินัม