หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2566

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2566

กลับหน้าหลัก
12.05.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 166

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2566

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2566 ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่า 5,486.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 4,125.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.87 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 2,216.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 16.76

 ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนร้อยละ 46.27 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 46.80 เนื่องจากแรงฉุดจากความไม่แน่นอนของวิกฤตสถาบันการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลบวกต่อราคาทองคำ ทำให้ในเดือนมีนาคม ราคาทองคำโดยเฉลี่ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์มาอยู่ที่ระดับ 1,912.73 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) ซึ่งราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการคาดการณ์ว่า ในปีนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะอยู่ที่ ระดับร้อยละ 5.00 – 5.25 รวมทั้งแรงซื้อทองคำจากนักลงทุนและกองทุน SPDR ที่ซื้อทองคำสุทธิในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.86

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 26.69 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.68 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง เติบโตได้ร้อยละ 68.72 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 และ 3-5 อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 213.05, ร้อยละ 746.40, ร้อยละ 86.89 และร้อยละ 47.55 ตามลำดับ โดย สหรัฐอเมริกา ตลาดอันดับที่ 2 ลดลงร้อยละ 4.02 ส่วนเครื่องประดับเงิน หดตัวลงร้อยละ 17.35 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และอินเดีย ตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับแรก ได้ลดลงร้อยละ 8.12, ร้อยละ 14.07, ร้อยละ 40.61, ร้อยละ 24.64 และร้อยละ 40.87 ตามลำดับ การส่งออก เครื่องประดับแพลทินัม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.90 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักอันดับที่ 1 และ 4-5 อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร ได้สูงขึ้นร้อยละ 142.28, ร้อยละ 62.92 และร้อยละ 39.56 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ตลาดอันดับ 2 และ 3 ลดลงร้อยละ 12.60 และร้อยละ 1.50 ตามลำดับ

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 13.40 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 144.49 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งขยายตัวได้ร้อยละ 150.70 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับ 1-5 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 771.69, ร้อยละ 39.33, ร้อยละ 72.84, ร้อยละ 67.35 และร้อยละ 8.26 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 159.42 จากการส่งออกไปยังตลาดใน 5 อันดับแรก อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และอินเดีย ได้สูงขึ้นร้อยละ 541.05, ร้อยละ 58.12, ร้อยละ 97.53, ร้อยละ 184.40 และร้อยละ 111.94 ตามลำดับ

เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.08 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 28.47 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ลดลงร้อยละ 28.48 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 2-3 และ 5 อย่างอินเดีย เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 79.11, ร้อยละ 7.81 และร้อยละ 57.16 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังฮ่องกงและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตลาดในอันดับที่ 1 และ 4 ยังขยายตัวได้ ร้อยละ 70.72 และร้อยละ 54.94 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.66 หดตัวลงร้อยละ 13.99 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ลิกเตนสไตน์ และฝรั่งเศส ตลาดสำคัญอันดับ 1, 3 และ 4 ได้ลดลงร้อยละ 13.66, ร้อยละ 31.76 และร้อยละ 13.54 ส่วนตลาดอันดับที่ 2 และ 5 อย่างฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.42 และร้อยละ 1.16 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในไตรมาสแรกของปี 2566 ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนอย่างการทยอยเปิดเมืองของจีนและฮ่องกงที่เป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ซึ่งนำไปสู่การเร่งบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ  (Pent-Up Demand) การกลับมาจัดงานอัญมณีและเครื่องประดับในหลายประเทศ การซื้อเพื่อการลงทุนจากความไม่แน่นอนของปัญหาทางเศรษฐกิจ และการซื้อพลอยสีที่เติบโตมากขึ้น เนื่องจากประเทศขั้วตรงข้ามรัสเซียหันมาบริโภคสินค้าทดแทนเพชรมากขึ้น จึงทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยสามารถเติบโตได้ โดยไทยส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับ 1, 5-7 และ 10 อย่างฮ่องกง อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ และกาตาร์ ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 189.80, ร้อยละ 76.39, ร้อยละ 58.81, ร้อยละ 127.06 และร้อยละ 1,464.55 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย สหราชอาณาจักร และเบลเยียม ลดลงร้อยละ 4.94, ร้อยละ 17.08, ร้อยละ 67.42, ร้อยละ 21.76 และร้อยละ 10.61 ตามลำดับ

 ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้า ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกไปยัง ฮ่องกง มีมูลค่าสูงขึ้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดงานแสดงสินค้าเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม ได้แก่ พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน ล้วนเติบโตได้ร้อยละ 771.69, ร้อยละ 541.05, ร้อยละ 70.72, ร้อยละ 213.05 และร้อยละ 48.98 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยัง อิตาลี ที่เติบโตได้ดีนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 57) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.89 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมา อย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 72.84, ร้อยละ 184.40 และร้อยละ 94.53 ตามลำดับ มีเพียงเพชรเจียระไนที่ลดลงร้อยละ 46.49

การส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 47.55, ร้อยละ 54.94 และร้อยละ 281.21 ตามลำดับ ขณะที่พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน หดตัวร้อยละ 28.73

ขณะที่การส่งออกไปยัง สิงคโปร์ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนร้อยละ 64) และเครื่องประดับแพลทินัมได้สูงขึ้นร้อยละ 746.40 และร้อยละ 142.28 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียมและเครื่องประดับเงิน ลดลงร้อยละ 43.94 และร้อยละ 36.82 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยัง กาตาร์ ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 96) รวมทั้งเพชรเจียระไน ได้มากขึ้นร้อยละ 1,532.92 และร้อยละ 733.23 ตามลำดับ

การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่ลดลงนั้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน ที่มีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 60 ได้ลดลงร้อยละ 4.02 และร้อยละ 8.12 รวมถึงเพชรเจียระไน สินค้าสำคัญถัดมาก็หดตัวลงร้อยละ 57.16 ส่วนพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน สินค้าสำคัญรองลงมายังขยายตัวได้ร้อยละ 39.33 และร้อยละ 58.12 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่มีมูลค่าลดลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนร้อยละ 73) ได้ลดลงร้อยละ 14.07 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับทอง ล้วนปรับตัวลดลงร้อยละ 32.84 และร้อยละ 31.27 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยัง อินเดีย ที่หดตัวลงนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50) ปรับตัวลงร้อยละ 79.11 รวมถึงสินค้าสำคัญรองลงมา ทั้งเครื่องประดับเงินและอัญมณีสังเคราะห์ที่ลดลงร้อยละ 40.87 และร้อยละ 21.96 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ยังขยายตัวได้ดีร้อยละ 23.80 และร้อยละ 111.94 ตามลำดับ

การส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ที่ลดลงนั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับเงินและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 40.61 และร้อยละ 36.92 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง ยังเติบโตได้ร้อยละ 4.42

มูลค่าการส่งออกไปยัง เบลเยียม ที่หดตัวลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (มีสัดส่วนถึงร้อยละ 91) ได้ลดลงร้อยละ 7.81 ส่วนสินค้ารองลงมาอย่าง เครื่องประดับทองและพลอยเนื้ออ่นเจียระไน ยังเติบโตได้ร้อยละ 69.90 และร้อยละ 79.73 ตามลำดับ

แผนภาพที่ 1 งตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2566

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.81 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 16.76 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.55 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าที่ยังเติบโตได้ดีของ ไทย คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน

 ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นอกจากนี้ ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีรายงานจากองค์การการค้าโลก (WTO) ได้คาดการณ์ว่า การค้าโลกปีนี้จะเติบโตร้อยละ 1.7 ลดจากปีก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ซึ่งจะเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อ และการคุมเข้มด้านนโยบายทางการเงินในหลายประเทศ จากปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินหลายแห่งโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป จึงทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัวลง โดยเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากภาคการเงินมีความยืดหยุ่นและสถานะการเงินที่ยังเข้มแข็ง โดยผู้ส่งออกควรเริ่มพิจารณาการค้าในภูมิภาคตะวันออกกลางงจากแนวโน้มของการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มสูงขึ้นและมีอนาคตที่สดใส

ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีนและการขยายตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวในหลายประเทศ แต่ภาพรวมยังมีความผันผวนสูง ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแนวทางที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความเข้าใจต่อพฤติกรรมผู้บริโภคได้ตรงจุด จึงมีแนวทางพฤติกรรมของผู้บริโภค 7 ข้อ จากการสำรวจของ Mintel บริษัทวิจัยการตลาดของอังกฤษ คือ สินค้า ต้องช่วยสร้างความรู้สึกสุขกายสบายใจ มีความคุ้มค่า มีการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันและไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก่อให้เกิดการยอมรับในสังคม สร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเทคโนโลยีน่าสนใจ ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำมาประยุกต์ในการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้ตอบความต้องการผู้บริโภคได้ทันท่วงที

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พฤษภาคม 2566


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2566, สะสม 3 เดือน, มกราคม-มีนาคม, มีนาคม 2566, GIT Information Center