หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / ASEAN: อาเซียนโอกาสส่งออกสิ่งทอไทยในภาวะถดถอย

ASEAN: อาเซียนโอกาสส่งออกสิ่งทอไทยในภาวะถดถอย

กลับหน้าหลัก
30.04.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 288

ASEAN: อาเซียนโอกาสส่งออกสิ่งทอไทยในภาวะถดถอย

ภาพที่ 1 แสดงมูลค่าส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึง กุมภาพันธ์ 2566

ตัวเลขการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ย้อนหลัง 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึง กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า การส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยหดตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคม 2565 ติดลบร้อยละ 6.8 และติดลบต่อเนื่องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ร้อยละ 16.8 อีกทั้งการส่งออกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นการลดลงตลอด Supply Chain ด้วยเช่นกัน

ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าและตลาดส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมีนาคม 2566

การส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นการลดลงตลอด Supply Chain ของอุตสาหกรรมติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 คือ ลดลงทั้งกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ดุลการค้าในเดือนมีนาคม 2566 ยังคงเกินดุลที่มูลค่า 87.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตลาดส่งออกหลักใน 3 อันดับแรก ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเวียดนาม ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.0, 0.6 และ 21.9 ตามลำดับ 

ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าและตลาดส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ไตรมาส 1 ปี 2566

และการส่งออกในไตรมาส 1 ปี 2566 มีมูลค่า 1,513.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สำหรับตลาดส่งออกหลักใน 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเวียดนาม ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.2, 3.7 และ 20.2 ตามลำดับ

คาดการณ์ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน บวกกับฐานการส่งออกในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์สูง ทั้งนี้ การส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในปี 2565  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น การจะขยับการส่งออกขึ้นไปอีกในปีนี้จึงเป็นไปค่อนข้างยาก และจากทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มไม่ค่อยสดใส โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเวียดนาม ที่ต่างนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งในปีนี้คาดว่าการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าดังกล่าวอาจมีการปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศของประเทศคู่ค้าดังกล่าวต่างอยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นกัน รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในฝั่งตะวันตก   ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคปรับลดน้อยลงตามไปด้วย และเมื่อกำลังซื้อผู้บริโภคน้อยลงคาดว่าจะส่งผลทำให้ความต้องการสินค้าปรับตัวลดลงตาม ดังนั้น การส่งออกสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มไทยในปีนี้จึงมีโอกาสและมีแนวโน้มปรับตัวลดลงหากเทียบกับปีที่ผ่านมา

ภาพที่ 4 แสดงคาดการณ์ส่งออกและตลาดที่คาดว่าจะขยายตัว ในปี 2566

ด้วยทิศทางภาวะเศรษฐกิจการค้าทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง องค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organization: WTO ได้คาดการณ์การค้าโลกในปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 (ขณะที่ในปี 2565 การค้าโลกขยายตัวร้อยละ 2.7) ซึ่งหากเป็นไปตามตัวเลขที่ได้คาดการณ์ นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของ Covid-19 ที่ยังคงมีผลอยู่ รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อและต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ ยังเติบโตได้ประมาณร้อยละ 1 ถึง 2 โดยปัจจัยบวกที่ทำให้การส่งออกภาพรวมของไทยเป็นบวกได้ เช่น ค่าระวางเรือ ที่ลดลง ต้นทุนก็จะถูกลง และตู้คอนเทนเนอร์ที่เพียงพอแล้ว ขณะที่ตลาดหลัก 4 แห่งของไทย ที่มีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นและนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับปีนี้ ประกอบด้วย ตลาดตะวันออกกลาง คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 รองลงมา ได้แก่ ตลาดเอเชียใต้ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ และตลาดอาเซียน รวมถึง CLMV คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ตามลำดับ 

ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดอาเซียน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

สำหรับตลาดอาเซียนและ CLMV นับเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทยในการส่งออกสินค้ากลุ่มสิ่งทอ (Textile) และตลาดอาเซียนเองยังเป็นฐานการผลิตและส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ไทยมีการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 และร้อยละกว่า 70 เป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ (ทั้งใยยาว และใยสั้น), ผ้าผืน และด้ายฝ้าย ตามลำดับ ดังนั้น ตลาดอาเซียนจึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

และปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในปี 2566 ประกอบด้วย 1) ต้นทุนการผลิต (ค่าไฟ ค่าแรง ค่าพลังงาน) ที่ต่างปรับตัวสูงขึ้น  และ 2) การขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ (ผลกระทบเชิงลบ) ส่งผลต่อยอดขาย กำไร ต้นทุน คาดว่า อาจมีการปรับลดการซื้อวัตถุดิบ ลดกำลังการผลิต และการขยับขึ้นของราคาสินค้าสำเร็จรูป  

ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวในประเทศนับเป็นปัจจัยบวกที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน1 เนื่องจากมีเม็ดเงินเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกับการจ้างงาน การลงทุน และการบริโภคในประเทศที่จะฟื้นตัวขึ้น และในไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม) ปี 2566 พบว่า มีการนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 จากตลาดจีน อิตาลี และเวียดนาม คาดว่าจะส่งผลต่อการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ

-------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง : 

กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce)        

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

1การเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวไทย กับก้าวต่อไปหลังเปิดประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย

Global Trade Atlas

Business Watch

-------------------------------------------------

จัดทำและเรียบเรียงโดย 

ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) 

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ภาวะสิ่งทอ, ส่งออก, Export, ประเทศไทย, เศรษฐกิจ, ปี 2566, อาเซียน, Thai Textile and Fashion Outlook by THTI, issue 45, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'66