วศ.ลงพื้นที่บุรีรัมย์ใช้วิทย์ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม "ผ้าไหมหางกระรอก"
กลับหน้าหลัก
04.05.2561 | จำนวนผู้เข้าชม 3074

วศ.ลงพื้นที่รับประชุม ครม.สัญจร บุรีรัมย์ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยกระบวนการผลิต – สร้างมูลค่าเพิ่ม “การทอผ้าไหมหางกระรอก” สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่รับประชุม ครม.สัญจร บุรีรัมย์ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม Color ID Labeling ช่วยกระบวนการผลิต – สร้างมูลค่าเพิ่ม “การทอผ้าไหมหางกระรอก” ของกลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองบ้านสนวนนอก หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมและวิถีชีวิตพอเพียง อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ เพื่อสร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาคตาม ตามนโยบายวิทย์แก้จนในโครงการบิ๊กร็อก เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ
นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.บุรีรัมย์ วันที่ 7 – 8 พ.ค. 2561 นั้น วศ.จะลงพื้นที่กลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองบ้านสนวนนอก หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมและวิถีชีวิตพอเพียง อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ เพื่อสร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค ตามนโยบายวิทย์แก้จนในโครงการบิ๊กร็อค (Big Rock) เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วท. และตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อช่วยกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สามารถลดความเหลื่อมล้ำหรือแก้จนให้กับคนส่วนใหญ่ได้
ทั้งนี้ กลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองบ้านสนวนนอก หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมและวิถีชีวิตพอเพียง อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ มีชื่อเสียงในเรื่องวิธีการทอผ้าไหมแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า “ผ้าไหมหางกระรอก” กระบวนการผลิตผ้าทอของกลุ่มเริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม ตีเกลียว รวมถึงการทอออกมาเป็นผ้าทอที่เป็นผืนสวยงาม โดย วศ. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าไปแก้ไขปัญหาพัฒนาการผลิตของกลุ่ม หลังจากพบว่า การผลิตผ้าทอของกลุ่มฯ มีปัญหาด้านต้นทุนการผลิตและปัญหาด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่ได้ยังไม่คงที่
อธิบดี วศ.กล่าวต่อว่า วศ. ส่งทีมนักวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่เชิงลึกเพื่อให้คำปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนากระบวนการผลิต ตั้งแต่ช่วยให้คำแนะนำเรื่องการปรับลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่หาง่าย เช่น การฟอกกาวไหมด้วยด่างจากธรรมชาติ โดยใช้ด่างจากขี้เถ้าใต้เตามาใช้ฟอกกาวไหม ไปจนถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการย้อมสีเส้นใยไหมด้วยวัสดุธรรมชาติ ที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น แก่นขนุน เปลือกเพกา แก่นเข เปลือกมะพร้าว มาย้อมเส้นใยเพื่อให้ได้สีจากธรรมชาติ นอกจากนี้แล้วชาวบ้านยังมีความต้องการสีย้อมเคมีที่ปลอดภัย ทางนักวิจัยจาก วศ. จึงได้นำเทคโนโลยีการย้อมสีเคมีที่ปลอดภัยและประหยัดพลังงานไปถ่ายทอดให้แก่กลุ่มด้วย
นางอุมาพร กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ วศ. ช่วยเพิ่มมูลค่าผ้าทอ ด้วยนวัตกรรม Color ID Labeling เนื่องจากผ้าทอมือที่ย้อมสีธรรมชาติยังมีข้อจํากัดของวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใช้ในการย้อมที่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศของแต่ละช่วงเวลา ทําให้การย้อมในแต่ละปี มีเฉดสีที่แตกต่างกันไป นวัตกรรม Color ID Labeling จะเป็นการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาตรวจวิเคราะห์และกําหนดค่ามาตรฐานการย้อมให้ได้มาตรฐานและสามารถอ่านค่าของสีออกมาเป็นตัวเลขทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากล
อีกทั้งยังส่งเสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ประจําท้องถิ่นทําให้กลุ่มลูกค้าสามารถจําแนกแหล่งที่ผลิตได้ว่า ผ้าผืนดังกล่าวได้ผลิตที่ไหนและปีไหน สามารถรักษาองค์ความรู้และออกแบบลวดลายผืนผ้า และเทคนิคการทอให้มีเอกลักษณ์สินค้าเฉพาะถิ่น โดยเฉพาะผ้าทอมือของไทยไม่ให้สูญหาย รวมถึงสามารถนําค่าสีนั้นตั้งเป็น color id ร่วมกับ การทํา AR Code ในฉลากที่สามารถทําให้ผู้ซื้อสามารถสอบกลับถึงแหล่งที่มาและกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าได้สินค้าของแท้จากแหล่งที่ผลิตโดยตรงอันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังสามารถขยายตลาดของผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีเอกลักษณ์ประจําถิ่นอีกทางหนึ่ง นําไปสู่การสร้างตลาดระดับสากลในอนาคตได้
ที่มา : https://mgronline.com/science/detail/9610000044047
news ข่าวรายวัน ผ้าไหม ไหมหางกระรอก