สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2565
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.82 เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีมูลค่า 10,050.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 15,057.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 5.25 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 7,987.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 29.54 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนธันวาคม 2565 หดตัวลงร้อยละ 24.20 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2564 และปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบปี 2565 นี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 46.95 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.03 โดยราคาทองคำเฉลี่ยของตลาดโลกในเดือนธันวาคมยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน มาอยู่ที่ระดับ 1,796.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัว ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยเชิงนโยบายของคณะกรรมการเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.25-4.50 เป็นไปตามที่ตลาดคาด จึงเป็นปัจจัยบวกทำให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดเดือนธันวาคม ทั้งยังสามารถทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ราคา 1,823.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ด้วย นอกจากนี้ สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองทองคำเพิ่มขึ้น จำนวน 1,136 ตัน มูลค่าประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 ขณะที่นักวิเคราะห์หลายสำนักยังเชื่อว่า ด้วยปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องจากปี 2565 ยังส่งผลต่อเนื่องมายังปี 2566 ทำให้ทองคำมีความน่าสนใจในการถือครองและมีแนวโน้มที่ราคาทองคำยังเป็นขาขึ้น
เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 27.13 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและ เครื่องประดับไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.98 โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ เครื่องประดับทอง ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.18 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสิงคโปร์ตลาดหลักใน 5 อันดับ ได้สูงขึ้นร้อยละ 26.10, ร้อยละ 44.41, ร้อยละ 43.06, ร้อยละ 28.72 และร้อยละ 315.25 ตามลำดับ การส่งออกเครื่องประดับเงิน มีมูลค่าพิ่มขึ้นร้อยละ 1.18 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญในอันดับที่ 3 และ 5 อย่างสหราชอาณาจักรและอินเดีย ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.49 และร้อยละ 232.08 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1, 2 และ 4 อย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย หดตัวลงร้อยละ 9.33, ร้อยละ 5.14 และร้อยละ 1.49 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.72 เนื่องจากการ ส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ตลาดอันดับที่ 2-4 สูงขึ้นร้อยละ 2.11, ร้อยละ 11.46 และร้อยละ 50.91ตามลำดับ ส่วนสิงคโปร์และสหราชอาณาจักร ตลาดอันดับที่ 1 และ 5 ลดลงร้อยละ 1.18 และร้อยละ 32.05 ตามลำดับ
เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.83 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.26 โดยมีเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ซึ่งเติบโตได้ร้อยละ 41.88 จากการส่งออกไปยังตลาดทั้ง 5 อันดับแรก อย่าง อินเดีย ฮ่องกง เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 66.37, ร้อยละ 9.88, ร้อยละ 27.06, ร้อยละ 81.84 และร้อยละ 12.46 ตามลำดับ
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 7.84 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.09 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.32 เป็นผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และอิตาลี ตลาดใน 5 อันดับแรก ล้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.15, ร้อยละ 24.85, ร้อยละ 176.14, ร้อยละ 964.11 และร้อยละ 45.08 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เติบโตได้ร้อยละ 89.65 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักใน 5 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และอินเดีย ได้สูงขึ้นร้อยละ 136.69, ร้อยละ 53.61, ร้อยละ 977.86, ร้อยละ 75.27 และ ร้อยละ 243.61 ตามลำดับ
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.09 ขยายตัวได้ร้อยละ 17.32 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ลิกเตนสไตน์ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับแรก ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.27, ร้อยละ 37.44, ร้อยละ 4.05, ร้อยละ 13.60 และร้อยละ 27.93 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในปี 2565 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.54 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากช่วง 9 เดือนแรกที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้น ตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในห่วงโซ่อุปทานของหลายประเทศกลับมาเป็นปกติ ภาคการการผลิตของโลกและกำลังซื้อของ ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่สามารถยืนอยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 อันเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ก่อตัวขึ้นทั่วโลก ทำให้อุปสงค์การบริโภคของโลกเริ่มชะลอตัวลง รวมทั้งค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่ามากขึ้น กระทบต่อการส่งออก เมื่อพิจารณาในภาพรวมจึงทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยตลอดทั้งปีขยายตัวได้โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยทั้ง 10 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี สหราชอาณาจักร สิงคโปร์สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.51, ร้อยละ 74.38, ร้อยละ 16.26, ร้อยละ 1.03, ร้อยละ 30.79, ร้อยละ 142.93, ร้อยละ 79.80, ร้อยละ 31.13, ร้อยละ 27.96 และร้อยละ 4.44 ตามลำดับ
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2564 และปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน เจียระไน และเครื่องประดับเทียม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.10, ร้อยละ 81.84, ร้อยละ 73.15, ร้อยละ 136.69 และร้อยละ 4.27 ตามลำดับ มีเพียงเครื่องประดับเงิน ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.33
ขณะที่การส่งออกไป อินเดีย ขยายตัวได้ดี เนื่องจากการส่งออกเพชรเจียระไนซึ่งเป็นสินค้าหลัก (มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 68) รวมทั้งสินค้าลำดับรองลงมาอย่างเครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน และอัญมณีสังเคราะห์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 66.37, ร้อยละ 232.08, ร้อยละ 141.88, ร้อยละ 243.61 และร้อยละ 367.57 ตามลำดับ ส่วนโลหะเงินหดตัวลงร้อยละ 25.84
การส่งออกไปยัง ฮ่องกง ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ล้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.88, ร้อยละ 44.41, ร้อยละ 24.85, ร้อยละ 53.61 และร้อยละ 4.05 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เครื่องประดับทอง รวมทั้งพลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.39, ร้อยละ 48.33, ร้อยละ 141.46, ร้อยละ 16.69 และร้อยละ 1.39 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน หดตัวลงร้อยละ 5.14
ส่วนการส่งออกไป สหราชอาณาจักร ที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ อย่างเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ล้วนแต่มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 20.49, ร้อยละ 43.06, ร้อยละ 67.56, ร้อยละ 239.20 และร้อยละ 6.89 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไป สิงคโปร์ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ ทั้งเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเพชรเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 315.25, ร้อยละ 964.11, ร้อยละ 977.86 และร้อยละ 1,393.15 ตามลำดับ โดยช่วงเดือนกันยายนสิงคโปร์มีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มีส่วนทำให้ยอดส่งออกรวมทั้งปีไปยังตลาดนี้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
มูลค่าการส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน เจียระไน โลหะเงิน และเครื่องประดับทอง ได้สูงขึ้นร้อยละ 176.14, ร้อยละ 75.27, ร้อยละ 7.12 และร้อยละ 134.43 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 83) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.06 รวมทั้งสินค้าลำดับถัดมาอย่างพลอยเนื้อแข็ง เจียระไน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเทียม ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.59, ร้อยละ 17.16 และร้อยละ 813.90 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ขยายตัวได้นั้น เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ล้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.72, ร้อยละ 12.46, ร้อยละ 40.55 และร้อยละ 212.63 ตามลำดับ
การส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตได้นั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.19, ร้อยละ 2.11, ร้อยละ 10.41 และร้อยละ 13.99 ตามลำดับ
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในรอบปี 2565 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.82 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 29.54 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.02 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 สำหรับสินค้าที่มีความโดดเด่นของไทย คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม รวมทั้ง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2564 และปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ในภาพรวมรอบปี 2565 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับมาดีต่อเนื่องในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การขาดแคลนพลังงาน ปัญหาเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่เริ่มส่งผลต่อการค้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ว่า สหรัฐฯ และ EU เสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และอาเซียน ยังขยายตัวได้ แต่ไม่เพียงพอต่อการประคับประคองเศรษฐกิจโลกโดยรวม จึงควรปรับตัวเข้ากับความเสี่ยงในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้า
ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์ส่งออกในปี 2565 ที่ผ่านมา นับว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สามารถเติบโตได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ปัญหารุมเร้าทางเศรษฐกิจหลายประการเริ่มส่งผลกระทบให้เห็นแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีตลาดหลักในสหรัฐฯ และ EU ควรมุ่งเน้นเจาะตลาดด้วยดีไซน์ที่ตรงใจและงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งใช้จุดขายการรักษ์โลกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ขณะที่การหาโอกาสจากตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และ อาเซียน จะเป็นอีกช่องทางให้ธุรกิจไปต่อได้ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2566
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”