หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / การทบทวน 4 ปี : สงครามภาษีศุลกากรสหรัฐฯ–จีน และการจัดหาเครื่องนุ่งห่ม

การทบทวน 4 ปี : สงครามภาษีศุลกากรสหรัฐฯ–จีน และการจัดหาเครื่องนุ่งห่ม

กลับหน้าหลัก
19.11.2565 | จำนวนผู้เข้าชม 391

การทบทวน 4 ปี : สงครามภาษีศุลกากรสหรัฐฯ–จีน และการจัดหาเครื่องนุ่งห่ม


เมื่อเดือนกันยายน 2022 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Office of the US Trade Representative หรือ USTR) ประกาศว่า จะดำเนินการเก็บภาษีศุลกากร ตามมาตรา 301 มูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ กับสินค้าจากจีน  โดย USTR ระบุว่า ได้ตัดสินใจตามคำขอจาก “ธุรกิจในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการขึ้นภาษี” ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดทางกฎหมาย  USTR จะเริ่มทบทวนการดำเนินการด้านภาษีตามมาตรา 301 อย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่ง สงครามภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังจะไม่สิ้นสุดในเร็ว ๆ นี้

การบรรเทาผลกระทบของสงครามภาษี: กลยุทธ์ของบริษัทแฟชั่น

เกือบ 4 ปีของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน บริษัทแฟชั่นของสหรัฐฯ ต่างเร่งพยายามบรรเทาผลกระทบเชิงลบจากการดำเนินการด้านภาษีตามมาตรา 301 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ค้าปลีกเครื่องนุ่งห่มในสหรัฐฯ มีความระมัดระวังในการขึ้นราคาขายปลีก เนื่องจากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง บริษัทแฟชั่นของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เลือกที่จะควบคุมต้นทุนการจัดหาที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีกลยุทธ์ใดที่พิสูจน์ว่าได้ประสบความสำเร็จและเพียงพอ

วิธีแรก คือ เปลี่ยนไปใช้ทางเลือกของจีน จากการสำรวจของสมาคมอุตสาหกรรมแฟชั่นแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2021 (US Fashion Industry Association’s 2021 survey) พบว่า 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาย้ายการสั่งซื้อเครื่องแต่งกายจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อย่างไรก็ตามในการสำรวจเดียวกันนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่า มีประเทศจัดหาอื่น ๆ เพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถเทียบได้กับความยืดหยุ่นและความคล่องตัวถึงกำลังการผลิต ความรวดเร็วในการออกสู่ตลาด และราคาที่แข่งขันได้โดยรวมของจีน ดังที่ผู้ตอบรายหนึ่งยอมรับว่า มีความจำเป็นที่ผู้ค้าปลีก/ผู้ซื้อสินค้าจะต้องพึ่งพาจีนให้น้อยลง ซึ่งหมายความว่าประเทศอื่น ๆ จำเป็นต้องเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผ้าและวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง หรือความต้องการโลจิสติกส์ที่รวดเร็วขึ้นและต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า เทียบกับการส่งออกวัตถุดิบจากจีน ผู้ตอบอีกรายกล่าวเสริมว่า จีนจะยังคงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดหาวัตถุดิบ แต่จะไม่เป็นเช่นนั้นสำหรับสินค้าสำเร็จรูป

ขณะที่ผู้ผลิตสิ่งทอของสหรัฐฯ คาดว่า อาจจะไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าสงครามภาษีจะส่งผลให้มีการจัดหาเครื่องนุ่งห่มจากซีกโลกตะวันตกมากขึ้น ในทางกลับกันสถิติการค้าชี้ให้เห็นว่าประเทศในเอเชีย เช่น เวียดนาม และบังกลาเทศ ได้รับส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ของจีนที่สูญเสียไปในตลาดนำเข้าเครื่องแต่งกายของสหรัฐฯ ระหว่างปี 2018 ถึง 2021

วิธีที่สอง คือ การปรับว่าจะจัดหาอะไรจากจีนโดยใช้ประโยชน์จากกำลังการผลิตและความยืดหยุ่นของประเทศ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลตลาดจากแหล่งอุตสาหกรรมแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่การดำเนินการตามมาตรา 301 บริษัทแฟชั่นของสหรัฐฯ ได้นำเข้าเครื่องแต่งกายที่ “ผลิตในจีน” มากขึ้นในกลุ่มสินค้าหรูหราและพรีเมียม และน้อยกว่าสำหรับตลาดล่าง แนวทางปฏิบัติดังกล่าวสมเหตุสมผลเนื่องจากผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องแต่งกายราคาพรีเมียม มักจะอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่า ทำให้บริษัทแฟชั่นสามารถขึ้นราคาขายได้ง่ายขึ้น เพื่อบรรเทาต้นทุนการจัดหาที่เพิ่มขึ้น ผลการศึกษายังพบว่าบริษัทในสหรัฐฯ จัดหาสินค้าแฟชั่นพื้นฐานที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่า (เช่น ชุดชั้นใน) น้อยลง แต่จัดหาหมวดหมู่เครื่องแต่งกายที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงและมีความซับซ้อนกว่า (เช่น เสื้อชุดและเสื้อผ้าชั้นนอก) มากขึ้นจากจีน นับตั้งแต่สงครามภาษีเริ่มขึ้น

การเกิดของการปรับภาษี (tariff engineering)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ บริษัทแฟชั่นของสหรัฐฯ เช่น Columbia Sportswear ใช้ประโยชน์จาก "การปรับภาษี (tariff engineering)" เพื่อตอบสนองต่อสงครามภาษี ทั้งนี้ tariff engineering หมายถึง การออกแบบเสื้อผ้าให้ถูกจำแนกในอัตราภาษีที่ต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น เสื้อสตรี เสื้อเชิ้ต และเสื้อที่ทำด้วยเส้นใยประดิษฐ์ ที่นำเข้าจากจีน สามารถเก็บภาษีได้สูงถึง 26.9% อย่างไรก็ตาม เสื้อสตรีตัวเดียวกันนี้ หากเพิ่มกระเป๋าหนึ่งหรือสองข้างใต้เอว จะถูกจัดประเภทให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันและอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษี 16.0% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การใช้ tariff engineering ต้องใช้ทรัพยากรทางการเงินและทรัพยากรมนุษย์จำนวนมาก ซึ่งมักจะเกินความสามารถของบริษัทแฟชั่นขนาดกลางและขนาดเล็ก

วิธีที่สามที่เป็นวิธีทั่วไป คือ การทำงานร่วมกับผู้ขายชาวจีน เพื่อรองรับต้นทุนการจัดหาที่เพิ่มขึ้น จากแหล่งข่าวในอุตสาหกรรม ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้ขายในจีนจะลดราคาเพื่อรักษาการสั่งซื้อ สถิติการค้ายังแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ราคาต่อหน่วยของการนำเข้าเครื่องแต่งกายของสหรัฐฯ จากทั่วโลกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2018 แต่ราคาของเครื่องแต่งกายที่ "ผลิตในจีน" ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงงานในจีนต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบ การขนส่ง และแรงงานท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การปฏิบัติดังกล่าวจึงถือว่าไม่ยั่งยืน

นอกจากนี้ เมื่อตระหนักถึงผลกระทบด้านลบของมาตรา 301 ที่มีต่อธุรกิจและผู้บริโภคของสหรัฐฯ สำนักงาน USTR ได้สร้าง "กระบวนการยกเว้นมาตรา 301" โดยภายใต้กลไกนี้ บริษัทต่าง ๆ สามารถขอให้ยกเว้นผลิตภัณฑ์เฉพาะจากอัตราภาษีมาตรา 301 ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์เฉพาะโดยดุลยพินิจของ USTR อย่างไรก็ตาม ในการยื่นคำร้องสำหรับการยกเว้นผลิตภัณฑ์ จำเป็นต้องมีเอกสารจำนวนมาก แม้แต่บริษัทที่มีทีมกฎหมายประจำ มักจะจ้างสำนักงานกฎหมายในกรุง Washington DC ที่มีประสบการณ์ด้านการดำเนินคดีทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือเรื่องคำร้อง เนื่องจากต้องใช้ความรู้ทางวิชาชีพและความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ สิ่งที่น่ากังวลสำหรับบริษัทแฟชั่นก็คือ อัตราความสำเร็จที่อยู่ในระดับต่ำของคำร้อง โดยเกือบ 90% ของคำร้องถูกปฏิเสธเนื่องจากความล้มเหลวในการแสดงให้เห็นถึง "ความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง" ในที่สุด นับตั้งแต่เปิดตัวกระบวนการยกเว้น สินค้าเครื่องนุ่งห่มที่อยู่ภายใต้มาตรา 301 ได้รับการยกเว้นภาษีน้อยกว่า 1%  ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่า ภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้บริษัทแฟชั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์จากกระบวนการยกเว้นนี้

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ที่มา : www.just-style.com  

เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลฯ (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ความเคลื่อนไหวสิ่งทอ, ภาษี, USA-China, sourcing, เครื่องนุ่งห่ม, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'66