ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนกันยายน 2565
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 595.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 378.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 217.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 496.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 349.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 147.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 98.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว (สะสม) 9 เดือน (เดือนมกราคม-กันยายน 2565) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 5,306.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 3,462.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 1,844.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 9 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 4,305.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 3,070.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 1,235.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 1,001.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า ผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย และผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเดือน (MoM) ตามลำดับ โดยหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า มูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนกันยายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กันยายน 2565
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 83.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและอินเดีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.8 และ 115.3
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ (สะสม) 9 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 816.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และอินเดีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 16.5, 23.9 และ 88.7 ตามลำดับ
ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนกันยายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กันยายน 2565
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 57.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นด้ายไปยังตลาดจีนและโคลัมเบีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 และ 13.5
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 9 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 558.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และบังกลาเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 13.6, 7.5 และ 19.8 ตามลำดับ
ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนกันยายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กันยายน 2565
การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 111.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนามและเมียนมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 และ 60.6
และการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 9 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 995.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 8.9, 38.2 และ 66.3 ตามลำดับ
ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนกันยายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กันยายน 2565
การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 217.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและเบลเยียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 และ 43.5
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 9 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,844.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 18.2 และ 3.3
ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า มูลค่าการนำเข้าเส้นด้าย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า มูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์
ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนกกันยายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กันยายน 2565
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 196.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าเส้นด้ายเพิ่มขึ้นจากตลาดออสเตรเลีย จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 260.6, 5.5 และ 16.2
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 9 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,481.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 28.7, 26.2 และ 179.7 ตามลำดับ
ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนกันยายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กันยายน 2565
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 153.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 และ 29.0
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 9 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,589.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและไต้หวัน นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 14.7 และ 24.0
ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนกันยายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กันยายน 2565
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 101.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากตลาดนำเข้าใน 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7, 200.4 และ 59.1 ตามลำดับ
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 9 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 830.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรกเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน อิตาลี และเวียดนาม นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 11.8, 69.6 และ 31.8 ตามลำดับ
ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM)
ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนกันยายน 2565 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการส่งออกในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้
ผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและปากีสถาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 และ 82.0 ขณะที่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดอินเดีย ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.0
ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาดจีนและโคลัมเบีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 และ 18.6 ขณะที่การส่งออกเส้นด้ายไปยังตลาดญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.0
ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาดเวียดนามและเมียนมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 และ 8.1 ขณะที่การส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดกัมพูชาในเดือนนี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.9
และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและเบลเยียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และ 6.1 ขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.3
ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)
และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนกันยายน 2565 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการนำเข้าในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้
ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าจากตลาดออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเท่าตัวหรือที่ร้อยละ 105.1 ขณะที่การนำเข้าเส้นด้ายจากตลาดจีนและสหรัฐอเมริกาในเดือนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า นำเข้าลดลงร้อยละ 22.2 และ 17.2
ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยเป็นการลดลงในตลาดนำเข้าทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ไต้หวัน และเวียดนาม ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.2, 20.9 และ 3.6 ตามลำดับ
และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการนำเข้าขยายตัวปรับตัวลดลงร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยเป็นการลดลงในตลาดนำเข้าทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5, 0.7 และ 20.5 ตามลำดับ
ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนกันยายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กันยายน 2565
สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนกันยายน 2565 มีมูลค่า 595.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนดังกล่าว พบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและเวียดนาม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 และ 26.5 ขณะที่การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซียในเดือนนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.4, 5.2 และ 12.7
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย (สะสม) เดือนมกราคม-กันยายน 2565 มีมูลค่าการส่งออกรวม 5,306.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยตลาดส่งออกใน 5 อันดับแรก มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดจีนที่ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 4.0 แต่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 15.1, 5.6, 11.7 และ 15.2
ภาพที่ 14 คาดการณ์มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในไตรมาส 4 ปี 2565 (ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565)
ทั้งนี้ คาดการณ์มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในไตรมาส 4 ปี 2565 (ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565) ที่มูลค่า 1,830.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลักของไทย (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน) บวกกับการเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองในไตรมาสสุดท้ายของปี (เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามมา ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องค่าเงินบาทที่ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ยังคงส่งผลบวกต่อภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยด้วยเช่นกัน
-------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
-------------------------------------------------
จัดทำและเรียบเรียงโดย
ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม)
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
3 พฤศจิกายน 2565