หน้าแรก / THTI Insight / ข่าวรายวัน / ดูความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-ไต้หวัน แม้ขัดแย้ง แต่ค้าขายกันปีละเกือบ 200,000 ล้านเหรียญ

ดูความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-ไต้หวัน แม้ขัดแย้ง แต่ค้าขายกันปีละเกือบ 200,000 ล้านเหรียญ

กลับหน้าหลัก
04.08.2565 | จำนวนผู้เข้าชม 655

  • แม้มีความขัดแย้ง ไม่ยอมรับ ‘สถานะ’ ของกันและกัน แต่ข้อมูลทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่า จีนกับไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันมาตลอด 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมาในช่วงแรกจีนกับไต้หวันไม่ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากันโดยตรง แต่ไต้หวันลงทุนและทำการค้าในจีนผ่านฮ่องกง ซึ่งไต้หวันเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าจีนมาตลอด
  • ในยุคปัจจุบัน จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไต้หวัน ซึ่งสำหรับฝั่งจีนนั้น ไต้หวันเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับที่ 5 ของจีน แต่ไต้หวันไม่ใช่ตลาดส่งออกที่สำคัญของจีน ส่วนด้านการลงทุน ไต้หวันเคยเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของจีน แต่ในปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เพราะมีประเทศอื่นๆ เข้าไปลงทุนในจีนเป็นจำนวนมาก ขณะที่ไต้หวันมีนโยบายออกจากจีนไปลงทุนในประเทศอื่น และรัฐบาลไต้หวันส่งเสริมให้เอกชนที่ลงทุนในจีนถอนทุนย้ายกลับบ้านด้วย
  • สถานการณ์ความตึงเครียดนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับไต้หวันขนาดไหน อาจจะยังไม่เห็นผลมากในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของทั้งโลกและไทย ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะแย่อยู่แล้ว
  • จีนประกาศตัดการนำเข้าสินค้าจากไต้หวันกว่า 2,000 รายการ และระงับการส่งออกทรายไปยังไต้หวัน เป็นหนึ่งวิธีการตอบโต้กรณีแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนไต้หวัน ซึ่งแสดงนัยทางการเมืองในทางที่สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่พึงประสงค์ 

    สถานการณ์ที่ยกระดับความตึงเครียดนี้ ทำให้ชาวโลกสนใจความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันมากขึ้นว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นอย่างไร ซึ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นมิติสำคัญที่เราอยากชวนไปดูข้อมูลด้วยกัน

    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มอย่างไม่เป็นทางการ

    แม้มีความขัดแย้ง ไม่ยอมรับ ‘สถานะ’ กับ ‘หลักการ’ ของกันและกัน และไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต แต่ข้อมูลทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่า จีนกับไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันมาตลอด 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา

    จีนกับไต้หวันเริ่มทำการค้ากันในปี 1979 หรือราว 30 ปีหลังเกิดสงครามกลางเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ อันเป็นเหตุให้พรรคก๊กมินตั๋ง นำโดย เจียงไคเช็ก ที่เป็นแกนนำรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ต้องย้ายถิ่นฐานไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นบนเกาะฟอร์โมซาในปี 1949 (ซึ่งต่อมาเรารู้จักเกาะนี้ในชื่อว่า ‘ไต้หวัน’) ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) ขึ้นในปีเดียวกันนั้น 

    ในช่วงแรกที่เริ่มทำการค้ากัน จีนกับไต้หวันไม่ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากันโดยตรง แต่ไต้หวันลงทุนและทำการค้าในจีนผ่านฮ่องกง ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มมีการค้าระหว่างกัน ไต้หวันเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าจีนมาตลอด 

    ด้านการลงทุน ในช่วงปี 1979-1995 ไต้หวันนับเป็นต่างชาติที่ครองสัดส่วนการลงทุนในจีนมากเป็นอันดับ 2 รองจากฮ่องกง ทั้งในแง่จำนวนบริษัทที่ลงทุน และมูลค่าทุนจดทะเบียนต่างชาติ ซึ่งจำนวนบริษัทจากไต้หวันคิดเป็นสัดส่วน 12.3 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทต่างชาติทั้งหมดที่ลงทุนในจีน และมูลค่าทุนจดทะเบียนคิดเป็น 9.3 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทุนจดทะเบียนต่างชาติทั้งหมดในจีน

    การลงทุนของไต้หวันที่หลั่งไหลเข้าไปในจีนเป็นผลมาจากภาคธุรกิจไต้หวันมองหาแหล่งแรงงานราคาถูก ซึ่งจีนก็ตอบโจทย์ในแง่นี้ อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เพราะมีประชากรจำนวนมาก บวกกับจีนออกระเบียบเพื่อดึงดูดนักลงทุนไต้หวันโดยเฉพาะในปี 1988 และในอีกทางหนึ่ง ปี 1987-1988 รัฐบาลไต้หวันก็ผ่อนคลายกฎระเบียบข้อบังคับหลายอย่าง ซึ่งนั่นทำให้นักลงทุนไต้หวันเข้าไปลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นจำนวนมาก และเริ่มมีการค้าผ่านช่องแคบไต้หวันกันโดยตรง ไม่ต้องผ่านฮ่องกง 

    ปี 1993 จีนขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของไต้หวัน ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างกัน 37,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา อันดับ 2 คือญี่ปุ่น) และปี 1993 เช่นกันที่จีนกลายเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่อันดับ 2 ของไต้หวัน เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา ส่วนการลงทุน ปี 1993 เพียงปีเดียว ไต้หวันมีการลงทุนโดยตรงในจีนเป็นมูลค่าประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นกว่า 66 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนนอกประเทศทั้งหมดของไต้หวันในเวลานั้น   

    กระทั่งปี 2010 ถือเป็นปีสำคัญในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับไต้หวัน มีการลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กับจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อร่วมจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน 

    นับรวมจากปี 1991 ถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2021 มีโครงการการลงทุนของไต้หวันที่ได้รับการอนุมัติให้ลงทุนในจีน 44,577 โครงการ เป็นมูลค่ารวม 193,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


     

    ปัจจุบันยังค้าขายกันมาก แต่ชะลอการเติบโต

    ปี 2001 จีนกับไต้หวันมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 10,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2010 เพิ่มขึ้นเป็น 114,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 166,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกของไต้หวันไปยังจีน มากกว่ามูลค่าการส่งออกของจีนไปยังไต้หวันมาตลอด 

    จะเห็นว่า ช่วงเวลาจากปี 2010 ถึงปี 2021 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับไต้หวันเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าในช่วงปี 2001 ถึงปี 2010 

    ในยุคปัจจุบัน จีนยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไต้หวัน โดยไต้หวันส่งออกไปยังจีนเป็นมูลค่า 102,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 และส่งออกเป็นมูลค่า 125,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021 

    ในทางกลับกัน จีนแผ่นดินใหญ่ก็เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 1 ของไต้หวันเช่นกัน

    การส่งออกของจีนไปยังไต้หวันในปี 2020 มีมูลค่า 63,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2021 มีมูลค่า 82,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสำหรับฝั่งจีนนั้น ไต้หวันเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับที่ 5 ของจีน แต่ด้านการส่งออก ไต้หวันไม่ใช่ตลาดส่งออกที่สำคัญของจีน 

    ด้านการลงทุน ในปัจจุบันไต้หวันไม่ได้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ของจีนแล้ว เพราะมีประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา 

    เราสามารถพูดได้ว่าทั้งสองประเทศพึ่งพาอาศัยกันในทางเศรษฐกิจมานานหลายสิบปี ซึ่งถ้าดูจากตัวเลข ดูเหมือนว่าไต้หวัน (ที่เป็นผู้ขาย) จะเป็นฝ่ายพึ่งพิงจีน (ที่เป็นผู้ซื้อ) มากกว่า แต่ก็ยากที่จะพูดได้อย่างมั่นใจว่าความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะสถานการณ์ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทั้งการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ป่วนอุตสาหกรรมของโลก และการที่ราคาสินค้าสูงขึ้นเพราะซัพพลายหายจากตลาดเนื่องจากสถานการณ์ในยูเครน แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ผู้ผลิต-ผู้ขายมีความสำคัญต่อโลกแค่ไหน และถ้าพูดในด้านการลงทุน การที่ไต้หวันเคยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ของจีนในอดีต ถือว่าไต้หวันก็น่าจะมีบทบาทต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย
     

    ไต้หวันลดพึ่งพาจีน ถอนทุนกลับบ้าน และหาฐานใหม่ 

    เมื่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) ขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไต้หวันในปี 2016 ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันเพิ่มขึ้น ไต้หวันพยายามจะลดการพึ่งพาจีนลง บวกกับความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการที่ความต้องการซื้อสินค้าเทคโนโลยีลดลงในปี 2015 รัฐบาลไต้หวันจึงมีนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) เริ่มต้นในปี 2016 เป็นโครงการส่งเสริมให้เอกชนหาแหล่งลงทุนใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

    ในอีกทางหนึ่งรัฐบาลไต้หวันก็ส่งเสริมให้เอกชนที่ลงทุนในจีนถอนทุนย้ายกลับบ้าน โดยในช่วงปี 2019-2021 รัฐบาลมีนโยบายจะช่วยเหลือบริษัทที่จะกลับไปลงทุนในไต้หวันในสิ่งที่จำเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน การเงิน น้ำกับไฟฟ้า และภาษี ขณะเดียวกัน รัฐบาลไต้หวันก็ดำเนินนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้วย 

    ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ของไต้หวัน ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และดำเนินนโยบายเป็นมิตรต่อธุรกิจโดยมอบสิ่งจูงใจต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ไต้หวันมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จอย่างสูงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

    ในปี 2019 และ 2020 บริษัทสัญชาติไต้หวันอย่างน้อย 209 บริษัทย้ายกลับจากประเทศจีน และลงทุนในไต้หวันเป็นมูลค่ารวมประมาณ 750,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 870,000 ล้านบาท สร้างงานในไต้หวันมากกว่า 65,000 ตำแหน่ง ในช่วงเวลาเดียวกันบริษัทใหญ่ระดับโลกอย่าง Microsoft และ Intel ก็ขยายการลงทุนในไต้หวันด้วย 

    ถ้ามองจากฝั่งของจีน การที่บริษัทไต้หวันถอนทุนออกมาก็อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจีนมากนัก เพราะการลงทุนจากไต้หวันคิดเป็นสัดส่วนไม่มากในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน 

    แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของจีนในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้คือปัญหาภายในที่เศรษฐกิจไม่สู้ดีอยู่แล้วจากหลายๆ ปัจจัยลบ
     

    ‘ชิป’ ทำให้สถานะเศรษฐกิจไต้หวันดีและเนื้อหอม 

    สถานะทางเศรษฐกิจของไต้หวันในเวลานี้ แม้จะเป็นดินแดนเล็กๆ แต่ก็เนื้อหอม มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก เพราะไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) รายใหญ่ที่สุดในโลก เรียกได้ว่ากุม ‘หัวใจ’ ของหลายๆ อุตสาหกรรมทั่วโลกอยู่ 

    สำหรับไต้หวันเอง อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เรียกได้ว่าเป็นฮีโร่ของเศรษฐกิจไต้หวัน มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute: ITRI) ว่า มูลค่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันในปี 2021 อยู่ที่ประมาณ 146,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.7 เปอร์เซ็นต์จากปี 2020 และคาดการณ์ว่าในปี 2022 นี้ จะเพิ่มขึ้นอีก 17.7 เปอร์เซ็นต์ เป็นมูลค่าประมาณ 162,475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

    บริษัทหัวหอกในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน คือ TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company ที่เป็นอันดับ 1 ในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ประเภท non-memory chip ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่มากถึง 53 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตลาดนี้มีขนาดใหญ่เป็นประมาณ 150 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1.5 เท่า ของตลาด memory chip และยังไม่นับว่าใน 8 บริษัทที่ครองตลาดการผลิตชิปสูงสุด เป็นบริษัทสัญชาติไต้หวันอยู่ถึง 4 บริษัท
     

    เซมิคอนดักเตอร์สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญถึงขนาดจะออกกฎหมายเฉพาะ จูงใจให้บริษัทผู้ผลิตชิปเข้าไปตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อความมั่นคงของซัพพลายเชน และในทริปเยือนไต้หวัน แนนซี เพโลซี ได้พบปะหารือกับผู้บริหาร TSMC ด้วย ซึ่งเพโลซีแสดงความเป็นห่วงว่าจีนจะใช้กำลังยึดครอง TSMC ได้แล้วส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั่วโลก 

    ส่วนฝั่งผู้บริหาร TSMC ให้ความมั่นใจว่า ไม่มีใครใช้กำลังควบคุม TSMC ได้ ถ้าใช้กำลังเข้าควบคุมก็จะทำให้โรงงานดำเนินการผลิตไม่ได้ เพราะโรงงานผลิตชิปของ TSMC มีกระบวนการที่ซับซ้อน และหลายกระบวนการมีการเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์กับบริษัทในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น หากเกิดสงครามหรือการใช้กำลัง ทุกฝ่ายจะมีแต่เสียกับเสีย 

     

    จับตาผลกระทบต่อโลกและไทย 

    สถานการณ์ความตึงเครียดในเวลานี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับไต้หวันขนาดไหน อาจจะยังไม่เห็นผลมากในเร็วๆ นี้ และคงไม่ถึงขั้นขาดสะบั้นกันไป เช่นกันกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับสหรัฐฯ ที่แม้จะมีความขัดแย้งและทำสงครามการค้ากัน แต่ก็ยังมีประโยชน์ระหว่างกันที่ตัดไม่ได้ 

    แล้วเรา ชาวไทยและชาวโลก (อาจ) จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?

    บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด วิเคราะห์เรื่องนี้ว่า การเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม 2 แง่มุม คือ แง่มุมความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะเกิดการใช้กำลังระหว่างประเทศ และแง่มุมของการค้าระหว่างประเทศ อย่างน้อยที่สุดทำให้ความคาดหวังว่ากำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯ-จีน (trade war) ที่ก่อนหน้านี้มีลุ้นว่าจะผ่อนคลาย อาจต้องล้มเลิกไป 

    จากการที่ฝ่ายวิจัยของเอเซีย พลัส ได้ศึกษาผลกระทบต่อ SET Index ในช่วงที่มีการประกาศกำแพงภาษีแต่ละรอบ พบว่าดัชนีมีการปรับลดลงเฉลี่ย 7-10 เปอร์เซ็นต์ 

    เอเซีย พลัส มองว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจสร้าง downside ในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ทยอยปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกลงก่อนหน้านี้ 

    ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทย ในกรณีเลวร้าย จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้การค้าระหว่างประเทศสะดุด ซึ่งภาคการส่งออกนั้นเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างจีดีพีของไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 68 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งไทยมีสัดส่วนการค้ากับจีนมากที่สุดราว 128,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021 หรือคิดเป็นราว 22 เปอร์เซ็นต์ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด และการค้ากับสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้าราว 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 11 เปอร์เซ็นต์ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด รวมสัดส่วนการค้าทั้งสองประเทศคิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย

    ในมุมมองของภาคธุรกิจไทยมองไปในทางบวกมาก คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า สถานการณ์ความตึงเครียดนี้จะเป็นโอกาสของไทยในด้านการส่งออก ที่ไทยมีโอกาสส่งสินค้าออกไปทดแทนซัพพลายจากประเทศคู่ขัดแย้งที่อาจจะมีการตั้งกำแพงทางการค้ากันมากขึ้น และในด้านการเป็นฐานการผลิต ที่คาดว่าบริษัทส่วนหนึ่งจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศที่มีความขัดแย้ง ซึ่งไทยอาจจะได้รับเลือกให้เป็นฐานการผลิตใหม่ทดแทน


    ที่มา
    https://plus.thairath.co.th/topic/money/101901

สิ่งทอ,สิ่งทอ