สหรัฐฯ กำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ
Ms. Jen Psaki โฆษกรัฐบาลสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาผลกระทบจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนต่อภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในสหรัฐฯ ซึ่งนโยบายดังกล่าวสหรัฐฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในปี 2561 ที่ได้เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อตอบโต้การทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน เช่น การบังคับให้บริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการจีน และการทุ่มตลาดสินค้าหลายรายการจนผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันได้ จนกระทั่งนำไปสู่การทำสงครามทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ
Ms. Katherine Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังอยู่ในระหว่างการเร่งหาแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งหมดในการแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในตลาดอย่างจริงจัง โดยนอกจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะพิจารณาใช้มาตรการด้านการเงินและมาตรการทางภาษีเพื่อรับมือกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในตลาดแล้ว การลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนก็เป็นมาตรการส่วนหนึ่งที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะนำมาใช้ด้วย อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญและมีจุดมุ่งหมายหลักในการรักษาบรรยากาศและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้าในเวทีการค้าโลก รวมถึงการรักษาผลประโยชน์ของแรงงานและผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดเป็นหลัก
ทั้งนี้ การประกาศแผนการพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ Ms. Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury Secretary) กล่าวให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวโดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า การพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนน่าจะมีประโยชน์ต่อสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยลดภาวะเงินเฟ้อในตลาดที่ปรับตัวเพิ่มสูงที่สุดในรอบ 40 ปี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ Mr. Daleep Singh รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ (Deputy National Security Advisor) กล่าวให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า หากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความมั่นคง เช่น จักรยาน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้ภาวะเงินเฟ้อในตลาดปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
ปัจจัยผลกระทบด้านต้นทุนพลังงาน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นในสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มชาวอเมริกันและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันต่อประธานาธิบดี ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ได้ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะพิจารณาดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อลดภาวะเงินเฟ้อและรักษาฐานเสียงในประเทศเอาไว้
Mr. Chad Bown ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญอาวุโสสถาบัน the Peterson Institute for International Economics (PIIE) กล่าวว่า การแถลงของ Ms. Psaki แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ จะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยราวร้อยละ 19.3
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสถาบัน PIIE ยังได้เผยแพร่รายงานระบุว่า หากสหรัฐฯ พิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนลงร้อยละ 2 จะมีช่วยให้ภาวะเงินเฟ้อในตลาดปรับตัวลดลงราวร้อยละ 1.3 จากระดับปัจจุบันได้ หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดลงเฉลี่ยราว 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม Mr. Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กลับมีแนวความคิดสวนทางกับนโยบายดังกล่าวโดยให้ความเห็นว่า การปรับลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษศาสตร์บางรายยังไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าวด้วย โดย Mr. Michael Pettis อาจารย์ภาควิชาการเงินแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาด้านภาวะเงินเฟ้อรัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานในตลาด การเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มหรือลดภาษีนำเข้าสินค้าไม่น่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด
ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนยังจะต้องมีการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร นอกจากนี้ หากการเจรจาไม่เป็นไปตามที่สหรัฐฯ วางแผนไว้อาจจะยิ่งส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ ที่ยังต้องพึ่งพาอาศัยจีนเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงได้ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องวางแผนและดำเนินการอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในอนาคต
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ: “สหรัฐฯ กำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ”, 2 - 6 พฤษภาคม 2565