หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

กลับหน้าหลัก
15.06.2561 | จำนวนผู้เข้าชม 3732

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2017 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามมีรายได้จากการส่งออก 31 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบเป็นรายปี แนวโน้มการเติบโตนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยยอดส่งออกคาดการณ์ว่าจะถึงระดับ 34-35 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ และ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2020 การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 70 โดยในปี 2017 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าถึง 25.9 พันล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การส่งออกสิ่งทอมีมูลค่าถึง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2016

อย่างไรก็ตามการนำเข้าสินค้าสิ่งทอของเวียดนามมีเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกที่มูลค่านำเข้า 15.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ เน้นความจำเป็นในการจัดหาเพิ่มขึ้นจากในประเทศเพื่อลดการเกินดุลการค้า การเติบโตของอุตสาหกรรมไม่ได้จำกัดเฉพาะการส่งออกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตลาดภายในประเทศซึ่งมีการขยายตัวร้อยละ 10 ใน 2017

ตลาดสำคัญ

นอกเหนือไปจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหลักที่สำคัญของเวียดนาม การส่งออกไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ปี 2018 การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามีมูลค่าถึง 3.14 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2017 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 3 ปี

การส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2018 เพิ่มขึ้นร้อยละ 27, ร้อยละ 22.3 และร้อยละ 26 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 958 ล้านเหรียญสหรัฐ, 896 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 832 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ตรงกันข้ามการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเพียงจากร้อยละ 1 มูลค่า 1.13 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2018

ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐฯ กับเวียดนาม

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ และจีนได้มีการพิจารณาในเรื่องอัตราภาษีนำเข้าสินค้าหลายประเภท เช่น สินค้าเกษตร รถยนต์ สารเคมี เครื่องจักร โลหะ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ย่อมจะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงเวียดนามที่เป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นจากสหรัฐฯ สหรัฐอเมริกาและจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของเวียดนามและสงครามการค้านี้อาจมีผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมเนื่องจากผลิตภัณฑ์ของเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของจีน

ผลกระทบของภาษีศุลกากร: ผลกระทบที่เป็นบวก

ถ้าอัตราภาษีศุลกากรถูกจำกัดอย่างเคร่งครัดกับจีนและไม่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานข้ามพรมแดน ผู้ส่งออกของเวียดนามจะสามารถแข่งขันได้มากขึ้นและจะเห็นความต้องการสินค้าของตนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

เวียดนามอาจเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนอีกด้วย ประเทศจีนได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์จีน+1 (China plus one strategy) ที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนในประเทศจีนที่ขยับขยายไปยังลงทุนในประเทศอื่น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงตลาด กระจายความเสี่ยงและลดค่าแรง สงครามการค้าที่กำลังเติบโตจะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้แรงงานมากอย่างเช่น เสื้อผ้า รองเท้า และอิเล็กทรอนิกส์

เวียดนามเป็นประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออกโดยภาคการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นส่วนใหญ่ของการส่งออก จะดึงดูดนักลงทุนมากขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตยังคงปรับโครงสร้างซัพพลายเชนเพื่อลดผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯต่อจีน

สำหรับประเทศเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระทบในระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบางแห่ง แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจเหล่านี้จะได้รับประโยชน์

ปัจจัยการเจริญเติบโตที่สำคัญ

การเข้าถึงตลาดที่เพิ่มขึ้นผ่านข้อตกลงการค้าเสรีและเทคโนโลยี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีและพหุภาคีของเวียดนาม ยังคงให้ประโยชน์ต่อผู้ผลิตในเวียดนามในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ลดผลกระทบจากการปกป้องการค้าที่เพิ่มขึ้น ด้วยข้อตกลงเขตการค้าเสรีใหม่ที่จะมีผล เช่น ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (the Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership, CPTPP) และเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศเวียดนามกับสหภาพยุโรป (Vietnam-EU FTA) ตลาดใหม่จะนำไปสู่การส่งออกที่สูงขึ้นและผลักดันผู้ผลิตในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถเต็มที่จากสิทธิประโยชน์จากภาษีศุลกากรพิเศษและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ของตน

นับจากนี้เป็นต้นไปการเข้าถึงตลาดโดยลำพังจะไม่เพียงพอที่จะสร้างการเติบโต และผู้ผลิตชาวเวียดนามก็จะต้องลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตคุณภาพและคงความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทคโนโลยีแห่งอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0 technologies)

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI)

ระหว่างปี 2012-2016 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2018 จนถึงเดือนเมษายนอยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเส้นด้ายและสิ่งทออื่นๆ โดย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และรัสเซียยังคงเป็นผู้นำด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเวียดนาม

เวียดนามประกาศแผนลดภาษีเงินได้นิติบุคคล

นายกรัฐมนตรี เหวียนซวนฟุก ได้ประกาศแผนการที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของเวียดนามในเร็วๆ นี้ ในที่ประชุมสุดยอดธุรกิจของ GMS เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2017ที่ผ่านมา

ร่างฉบับปัจจุบันของกระทรวงการคลังเรื่องการลดหย่อนภาษีสำหรับ SME ตั้งแต่ปี 2017 ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีนิติบุคคลที่ลดลง ซึ่งจะใช้แทนอัตราภาษีเดิมของเวียดนามที่ร้อยละ 20 โดยอัตราร้อยละ 15 นำไปประยุกต์ใช้กับวิสาหกิจขนาดย่อม (Micro enterprise) และอัตรา 17 จะใช้กับธุรกิจขนาดเล็ก (Small enterprise) ซึ่งจะเหมาะสมสำหรับนักลงทุนในธุรกิจประเภทดังกล่าว โดยนักลงทุนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่อไปนี้เพื่อที่จะถือว่าเป็นองค์กรขนาดย่อมหรือเล็ก:

ธุรกิจขนาดย่อม (micro enterprise): นักลงทุนที่ต้องการมีคุณสมบัติเป็นองค์กรขนาดย่อม จำเป็นต้องแสดงหลักฐานว่ายอดขายมีมูลค่าน้อยกว่า 3 พันล้านเวียดนามดอง (VND) ต่อปี (ประมาณ 131,000 เหรียญสหรัฐ)

องค์กรขนาดเล็ก (Small enterprise): นักลงทุนที่ต้องการมีคุณสมบัติเป็นองค์กรขนาดเล็ก ควรใช้พนักงานไม่เกิน 200 คน และแสดงหลักฐานรายได้ประจำปีระหว่าง 3 ถึง 50 พันล้านเวียดนามดอง (VND) (ระหว่าง 131,000 เหรียญสหรัฐ ถึง 2,190,000 เหรียญสหรัฐ)

กระทรวงการคลังได้ระบุไว้ในข้อกำหนดว่าผู้ลงทุนจัดตามรูปแบบบริษัทแม่และบริษัทย่อย อาจไม่ได้รับสิทธิพิเศษในอัตราพิเศษ กระทรวงการคลังชี้ให้เห็นว่าการลดวงเงินที่เสนอจะตัดสิทธิ์บริษัทที่บริษัทแม่มีส่วนแบ่งการถือครองหุ้นของบริษัทย่อยในต่างประเทศร้อยละ 25 หรือมากกว่านั้น

กรอบเวลาสำหรับการใช้งาน: เวียดนามยังไม่ได้ยืนยันว่ารายละเอียดที่ระบุไว้ข้างต้นจะถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการลดภาษีของบริษัท ดังนั้นนักลงทุนควรติดตามข่าวจากกระทรวงการคลังเวียดนามอย่างใกล้ชิดเพื่อทราบข้อมูลที่แน่นอนและระยะเวลาของการลดในอนาคต

เมื่อมีการออกกฎหมายอย่างเป็นทางการแล้ว จะมีการกำหนดเส้นตายที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินงานภายใต้กฎหมาย อย่างไรก็ตามควรสังเกตว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาจไม่เสนออัตราภาษีนิติบุคคลที่ลดลงและรอการชี้แจงเพิ่มเติมจากกระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง นักลงทุนที่สนใจควรปรึกษากับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหรือบริษัทที่ให้บริการทางวิชาชีพเพื่อให้เข้าใจถึงขั้นตอนการดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น

แนวโน้มการลงทุน

ผู้ลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ในเวียดนาม อาจได้รับประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคลนี้มากขึ้น การลดภาษีนิติบุคคลของเวียดนามก่อนหน้านี้ มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจทั้งหมดและอนุญาตให้บริษัทที่มีขนาดใหญ่และบริษัทที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของบริษัท แม่และบริษัทย่อยเข้าถึงได้เพื่อการประหยัดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจขนาดเล็กคาดว่าจะเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดภาษีนิติบุคคลฉบับนี้หากมีการับและผ่านร่างกฎหมายแล้ว นักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในภาคสินค้าอุปโภคบริโภคที่กำลังขยายของเวียดนามคาดว่าจะได้รับประโยชน์โดยทางอ้อม จากการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 95 ของธุรกิจที่จดทะเบียนในเวียดนาม

พยากรณ์อุตสาหกรรม

ตามข้อมูลของสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ประมาณ 34-35 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 และจะประมาณ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐปี 2020 ในช่วงปี 2016 ถึง 2020 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12-14 ในขณะที่ศักยภาพการส่งออกจะเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราร้อยละ 15 ในช่วงเวลาเดียวกัน

มองไปข้างหน้า

แม้ว่าการส่งออกจะมีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวและเติบโตขึ้น แต่ผู้ผลิตเวียดนามเองก็จะต้องเริ่มหันมามองและมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ปัจจุบันเวียดนามก็ยังคงจะต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ ยากที่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากข้อตกลงการค้าเสรีกับเงื่อนไข "กฎแหล่งกำเนิดสินค้า" ที่ยากลำบาก

นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงานในจีนกำลังผลักดัน บริษัทเริ่มเคลื่อนย้ายขยายฐานไปยังประเทศต่างๆ อย่างเช่น กัมพูชา บังคลาเทศ และเวียดนาม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามเวียดนามจำเป็นต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง หากต้องการให้มีศักยภาพในการแข่งขันในภูมิภาคต่อไป

ที่มา: http://www.vietnam-briefing.com

แปลและเรียบเรียง: นายชาติชาย สิงหเดช – ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

export ภาวะสิ่งทอ สิ่งทอ&เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรม เวียดนาม