หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / รายงานการพยากรณ์มูลค่าการส่งออกไตรมาส 2 ของปี 2561 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2561)

รายงานการพยากรณ์มูลค่าการส่งออกไตรมาส 2 ของปี 2561 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2561)

กลับหน้าหลัก
31.05.2561 | จำนวนผู้เข้าชม 1345

รายงานการพยากรณ์มูลค่าการส่งออกไตรมาส 2 ของปี 2561 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2561)

โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัวร้อยละ 3.93 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4/2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.37 สืบเนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงขับเคลื่อนให้การส่งออกขยายตัวตามอุปสงค์สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตในหลายประเทศทั่วโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และอัตราการว่างงานของหลายประเทศ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การผลิตและจำหน่ายในประเทศ พบว่า เส้นใยสิ่งทอมีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 (%YoY) โดยเป็นการขยายตัวในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มีการพัฒนาเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น สำหรับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และเครื่องแต่งกายจากผ้าถัก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ 3.0 (%YoY) ตามลำดับ จากการผลิตชุดชั้นในสตรี เสื้อผ้าชั้นนอกของสุภาพบุรุษ เพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น1

คาดการณ์แนวโน้มมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตามรายผลิตภัณฑ์ ในไตรมาสที่ 2/2561 ที่มูลค่า 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแยกตามรายผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย

 ผลิตภัณฑ์เส้นใยจะมีมูลค่าการส่งออก 480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 ผลิตภัณฑ์เส้นด้ายจะมีมูลค่าการส่งออก 410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนจะมีมูลค่าการส่งออก 710 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มจะมีมูลค่าการส่งออก 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ คาดการณ์แนวโน้มมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมดังกล่าว จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม และจีน โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใยและผ้าผืน ไปยังตลาด CLMV ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตเส้นใยสมบัติพิเศษถือเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม S-curve ตามเป้าหมายของรัฐบาล  

จัดทำโดย

ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

economic forecast การส่งออก ปี 2561 พยากรณ์ มูลค่า สิ่งทอ&เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรม ไตรมาส 2