หน้าแรก / THTI Insight / ข่าวรายวัน / เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงฟื้น “ผ้าไทย” ให้สมัยใหม่ ชุบชีวิต-เพิ่มรายได้พสกนิกร

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงฟื้น “ผ้าไทย” ให้สมัยใหม่ ชุบชีวิต-เพิ่มรายได้พสกนิกร

กลับหน้าหลัก
06.01.2565 | จำนวนผู้เข้าชม 4895

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงฟื้น “ผ้าไทย” ให้สมัยใหม่ ชุบชีวิต-เพิ่มรายได้พสกนิกร

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนพระทัยงานด้านศิลปาชีพ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้โดยเสด็จตาม “สมเด็จย่า” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมสมาชิกศิลปาชีพในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงรับรู้ว่าสมเด็จย่าทรงให้ความสำคัญการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์ และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน


พระองค์ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสานต่องานด้านศิลปหัตถศิลป์ ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถักทอด้วยฝีมือของชาวนาชาวไร่ ทรงมีพระทัยอันแน่วแน่ ที่จะส่งเสริมอาชีพกลุ่มทอผ้าในทุกภาคที่ก่อเกิดขึ้น จากสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า ให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน และสานต่อด้านการอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมือง อันทรงคุณค่ายิ่งไว้บนผืนแผ่นดินไทยสืบต่อไป

งานศิลปาชีพการทอผ้า จึงนับเป็นอีกหนึ่งในพระกรณียกิจที่สำคัญยิ่งในการแบ่งเบาพระราชภารกิจของ “พระบรมชนกนาถ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสานรักษาและต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ ทรงนำประสบการณ์ ทั้งจากการทรงงาน และทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านในแต่ละภาคที่ทรงตามเสด็จโดยสมเด็จย่า แล้วทรงนำแนวคิด มาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัยเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังคงไว้ลวดลายของผืนผ้าที่สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นในแต่ละภาคนั้นๆ พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัย จึงทรงนำมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยได้อย่างสวยงามยิ่ง

โดยที่ผ่านมา พระองค์เสด็จไปทรงเยี่ยม พร้อมพระราชทานขวัญกำลังใจกลุ่มทอผ้าในชุมชนจังหวัดต่างๆ อาทิ กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


การเสด็จไปในครั้งนั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นการใช้สีจากธรรมชาติ เช่น เสื้อสำเร็จรูป กระเป๋า ของที่ระลึก ของชุมชนบ้านดอยกอย เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเป็นที่มาของพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ส่งผลให้จากที่เคยขาดรายได้ จากผลกระทบโควิด-19 ณ วันนี้กลับมามีรายได้จุนเจือครอบครัว และสามารถพึ่งพาตนเองได้


นางถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย กล่าวว่า หลังจากที่พระองค์เสด็จไปที่ชุมชนบ้านดอยกอย ก็ได้ทรงออกแบบลวดลายหลายอย่าง ทรงชี้แนะ แล้วได้พระราชทานลายผ้า ทางกลุ่มก็ได้ทอผ้าลายพระราชทานขึ้นมา ซึ่งได้รับคำชมจากคนทั่วไปว่าสวย และอยากได้ ทำให้กลุ่มกลับมาทอผ้าอย่างคึกคัก


เราเทิดทูนที่พระองค์มองเห็นวิถีชีวิต ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากที่ทำนาทำไร่ เราต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ รักและเทิดทูนพระองค์เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม” นางถวิลกล่าว และว่า ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ได้มุ่งมั่นสานพระปณิธานทอผ้าย้อมครามตามแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”  ที่พระองค์ทรงออกแบบโลโก้ ตราสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์  ลักษณะเป็น “รูปหัวใจ” พระราชทานให้  ซึ่งสื่อความหมายถึงความรัก ความสามัคคี ของคนในชุมชนบ้านดอนกอยที่นำมามัดร้อยรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

ด้วยมีพระประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพผ้าในชุมชนบ้านดอนกอยให้สู่การเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ของประเทศ ทั้งยังได้พระราชทานกี่ทอผ้าแก่กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอยกอย ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ  อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยความปลาบปลื้มว่า พระองค์ทรงพระอัจฉริยภาพจริงๆ ทอดพระเนตรละเอียดมาก โดยเฉพาะกี่ทอผ้า หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า คือมีความสำคัญยิ่ง ผู้ทอ หรือตัวผมเอง ก็ไม่รู้  บางทีทอผ้ามาแล้วทำไมมีตำหนิ ปรากฏว่าเรื่องฟืม พระองค์ก็ทรงเห็น ทรงหาแนวทางที่จะช่วยหาเครื่องมือที่จะผลิตผ้าให้ได้มีคุณภาพดี ที่สำคัญให้มีหน้ากว้าง ให้ความยาวที่เหมาะสมกับการใช้สอย โดยนอกจากพระราชทานคำแนะนำแล้ว พระองค์ยังได้พระราชทานกี่ทอผ้า ให้กลุ่มผ้าบ้านดอนกอยด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานแนวพระดำริไปช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยให้ได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต ในเรื่องการส่งเสริมอาชีพงานหัตถศิลป์หัตถกรรม โดยเฉพาะด้านผ้า ทำให้เห็นแต่สิ่งที่เรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน


“พระองค์ทรงให้ความสำคัญเรื่องของทัศนคติเรื่องของความรู้ของผู้ที่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่ม OTOP เป็นกลุ่มศิลปาชีพ พระองค์เสด็จไปทรงเยี่ยมและพระราชทานองค์ความรู้ให้ ทรงให้ความสำคัญการฝึกอบรม แล้วก็พระราชทานแนวทางที่ทันสมัย เมื่อก่อนผ้าไทยเรา สีส่วนใหญ่จะสีเข้มสีฉูดฉาด พระองค์ทรงสอนให้รู้ถึงโทนสีต่างๆ ที่อยู่ในความนิยมทั่วไป และทรงเน้นให้ชาวบ้านทอผ้าจากสีธรรมชาติ ด้วยทรงคำนึงถึงสุขภาพของช่างทอผ้า ผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม ทรงไม่อยากให้ใช้สีเคมี”


จากที่เสด็จไปทอดพระเนตรผลงานของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองของแต่ละจังหวัดแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยริเริ่มงานพัฒนาลายผ้าเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่กลุ่มทอผ้าลายที่แปลกใหม่ อันเป็นการขยายตลาด และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญ สวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น อันเป็นการเสริมสร้างเอกลักษณ์ผ้าไทยของชาติที่ทรงคุณค่า โดยทรงเป็นต้นแบบฉลองพระองค์ด้วย ผ้าไทยมาโดยตลอด


ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรณรงค์พลิกฟื้นผ้าไทยในรูปแบบใหม่ ฟื้นคืนชีวิตแล้วก็สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนไทยทั้งประเทศ


“ในนามสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และในนามสตรีไทยทั้งประเทศ ขอเชิญชวนให้พี่น้องคนไทย ไม่ว่าจะเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี เรามาร่วมกันรักชาติ ด้วยการแสดงออกง่ายๆ ใส่ผ้าไทยทุกวัน ก็จะเป็นการช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก เราทุกคนต้องช่วยกันรายได้ก็จะกลับไปสู่ชุมชนในชนบท”  ดร.วันดี กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ เมื่อครั้งเสด็จไปในงาน OTOP City 2020 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 19 ธันวาคม 2563 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเชิญไปมอบให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทั่วทุกภูมิภาคในทุกจังหวัดนำไปเป็นต้นแบบ และต่อยอดพัฒนาลวดลาย แบบผสมผสานให้สอดคล้องกับแฟชั่นร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์เรื่องราวประจำภูมิภาคนั้นๆ


เมื่อเริ่มปี 2564 พระองค์พระราชทานลายผ้า ที่ทรงออกแบบลายภายใต้ชื่อ  “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี”  ทุกลวดลายเปี่ยมด้วยความหมาย อาทิ ลาย S หมายถึง Sirivannavari ส่วนลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน ด้วยมีพระประสงค์ที่จะจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผ้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล และเพื่อสืบทอดวิถีชุมชนให้ยั่งยืน  ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการทอผ้าและการพัฒนาฝีมือแก่กลุ่มทอผ้าทั้ง 4 ภาค  อันเป็นการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น


ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงห่วงใยพสกนิกร  พระองค์มีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสานรักษาและต่อยอดพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะที่จะทรงรังสรรค์แบบผ้าลายใหม่  เพื่อให้คนไทยมีผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มพูนมากขึ้น  นอกเหนือจากลายผ้าดั้งเดิม ประชาชนบอกว่าถ้าไม่ได้ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” พวกเขาแย่เลย อันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์อันหนึ่งว่าสิ่งที่พระองค์มีพระกรุณาธิคุณพระราชทานให้กลุ่มทอผ้าส่งผลดีให้กับพี่น้องคนไทยเป็นล้านๆ ครอบครัว

นอกจากพระราชทานลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” แล้ว พระองค์ยังทรงติดตามผลงานที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้ สนองพระดำริน้อมนำไปพัฒนาต่อยอดให้แก่ราษฎรกลุ่มที่ทอผ้าทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการทอผ้าและการพัฒนาฝีมือ สร้างสิ่งใหม่เข้าสู่ตลาด และยังแสดงให้เห็นถึงฝีมือผู้ทออีกด้วย


อาทิ ในงานผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ จัด ณ  อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมือง จ.นราธิวาส มีผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่างๆ และผ้าทอแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี”  ที่กลุ่มทอผ้าใน 14  จังหวัดภาคใต้ได้น้อมนำไปพัฒนาต่อยอดลวดลายการทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าบาติก ซึ่งพระองค์ทอดพระเนตร “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ของแต่ละจังหวัดในภาคใต้ ด้วยความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง


เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้มีอาชีพทอผ้าทุกคน และเป็นการอนุรักษ์ และต่อยอดผ้าถิ่นไทยสู่ระดับสากล พระองค์พระราชทานพระอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุน กระทรวงมหาดไทย  ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ภายใต้แนวคิด “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก”  เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม  2564 ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ได้มีพิธีพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”


ทั้งนี้ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ “ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้เป็นที่นิยม สู่สากล สามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส”

โดยมีผู้ประกอบการ, ช่างทอผ้า ส่งผ้าเข้าประกวดใน 15 ประเภท รวม 3,214 ผืน  โดยมีผ้าที่ผ่านเข้ารอบ 11 ประเภท รวม 50 ผืน จากผู้เข้าประกวด 46 คน


สำหรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเหรียญทองพร้อมของรางวัล จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้แก่ นายมีชัย แต้สุจริยา จังหวัดอุบลราชธานี รางวัล The Best of The Best  จากประเภทผ้าเทคนิคผสม, ส่วนรางวัลเหรียญทองพระราชทาน ได้แก่ นายธงชัย พันธุ์สง่า จังหวัดนครราชสีมา รางวัลสีเทรนด์บุ๊ก จากประเภทผ้ายกเล็ก และเหรียญรางวัลพระราชทานได้แก่ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน ประเภทผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ, ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป, ผ้าขิด, ผ้ายกเล็ก, ผ้าแพรวาเทคนิคผสม, ผ้าบาติกมัดย้อม และผ้าเทคนิคสร้างสรรค์


นายพงษ์ชยุตน์ โพนะทา ชุมชนภูไทดำ  อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์  สืบทอดอาชีพทอผ้าไหมแพรวาจากครอบครัว หนึ่งในผู้รับรางวัลพระราชทานประเภทไหมแพรวา กล่าวว่า หลังจากที่พระองค์พระราชทานผ้าลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ทำให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้  ยิ่งอยู่ในช่วงโควิดระบาด  ทุกอย่างหยุดนิ่ง  ทุกคนตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ มองไปทางไหน มีแต่ความมืดมน ผ้าลายขอสิริวัณฯ ช่วยให้ทุกคน ลืมตาอ้าปากได้อย่างไม่คาดคิด และทุกคนมีรายได้จากผ้าลายพระราชทาน เสมือนช่วยชีวิตทุกคน ผ้าลายขอฯ มาถูกจังหวะ  รู้สึกได้ว่า ผ้าลายขอฯ มาชุบชีวิต สำคัญมากไปกว่านั้น คือ ยังมีการสั่งทอ อย่างต่อเนื่อง


ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า รู้สึกปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์พระราชทานแบบผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ทำให้ จังหวัดที่ไม่เคยมีทอผ้า อย่างจังหวัดตราด บ้านของผม คึกคักตื่นเต้นกันเรื่องผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี  เรียกร้องมาที่กรมพัฒนาชุมชน ซึ่งสมัยนั้นผมดำรงตำแหน่งอธิบดีฯ ขอให้ช่วยหาอาจารย์ไปสอน ตอนนี้ก็มีกลุ่มทอผ้าเกิดขึ้น อันนี้ก็สะท้อนให้เห็นเลยว่า พระปณิธานในการ ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอด สามารถทำได้สำเร็จจริงๆ แล้วก็ส่งผลให้คุณประโยชน์ต่อพี่น้องชาวไทยอย่างดีเยี่ยม


จากการดำเนินโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก มีสมาชิกได้รับผลประโยชน์ 110,034 ครอบครัว มีรายได้กว่า 8,393,605,378 บาท

ด้วยน้ำพระทัยที่ชุบชีวิตชาวบ้านยามวิกฤตเพิ่มรายได้ ต่อลมหายใจให้ชุมชน เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกร ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง แต่เหนืออื่นใด ทรงปลุกกระแสผ้าไทยให้กลับมามีชีวิต เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ ขอเชิญชวนคนไทยร่วมฟื้นฟู และเผยแพร่เอกลักษณ์ของชาติไทย ผ่านผ้าลายขอพระราชทาน ให้โลดแล่นบนผืนแผ่นดินไทยร่วมกัน


ในโอกาสพิเศษและเป็นมงคลยิ่ง เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วันที่ 8 มกราคม 2565 ขอพระองค์ทรงพระเจริญ


ที่มา : https://www.matichon.co.th/court-news/news_3118219

ข่าวรายวัน,สิ่งทอ,ผ้าไทย,หัตถศิลป์,ผ้าทอ,เสื้อสำเร็จรูป,กระเป๋า,ผ้าไหม,ผ้าฝ้าย,ผ้าบาติก,ผ้ามัดหมี่ลายขอ