มรภ.นครศรีฯพัฒนาผ้าพื้นถิ่นเคลือบนาโนป้องกันยูวี-ต้านเชื้อแบคทีเรีย-สะท้อนน้ำ
การทอผ้าพื้นเมืองเป็นภูมิปัญญาไทยอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยผ้าของแต่ละท้องถิ่นจะมีอัตลักษณ์ และความงดงามเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ ความชำนาญ ค่านิยม และทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ปัจจุบันการทอผ้าเพื่อสร้างรายได้เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนการทอผ้าเพื่อใช้สอย ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ทั้งในลักษณะอาชีพหลัก และอาชีพเสริม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผู้พิจารณาเห็นว่าผ้าพื้นเมืองเป็นสินค้าที่มีโอกาสขยายออกไปทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ
ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสิ่งทอด้วยนาโนเทคโนโลยี เพื่อรองรับการแข่งขันเสรี จึงได้พัฒนาแนวทางในการนำนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าสิ่งทอ โดยเฉพาะผ้าทอพื้นเมือง เกิดกระบวนการตกแต่งผ้าให้มีคุณสมบัติที่แตกต่าง เช่น ลดการยับ และเพิ่มความนุ่มนวล ตลอดจนการคืนตัวของผ้าทำให้ดูแลรักษาง่าย เพิ่มคุณสมบัติการสะท้อนน้ำ เพื่อลดการซึมเปื้อนและต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ไม่เหม็นอับและความจำเป็นในการซัก
ผศ.ปวีณา ปรวัฒน์กุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เล่าถึงงานวิจัย “การพัฒนาผ้าพื้นถิ่นที่มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวี ต้านเชื้อแบคทีเรีย และสะท้อนน้ำด้วยวัสดุนาโน” โดยการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น โดยที่่ผ่านมาได้เข้าร่วมพัฒนาชุมชน ด้วยการดำเนินงานวิจัยหลากหลายโครงการ เช่น โครงการทุนท้าทายไทยปีที่ 1 ได้พัฒนาผ้ามัดย้อมลายสายน้ำตาปีไหลหลากจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นน้ำตาปีแฮนด์เมด โครงการทุนท้าทายไทยปีที่ 2 พัฒนาผ้าบาติกลายนกฮูกและป่าประจากกลุ่ม 4 ป.บาติก และโครงการมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบายที่เน้นการพัฒนาพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งได้ร่วมดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกกลุ่มสตรีพัฒนาบาติก บ้านสวนขัน จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนขันเกษตรกรยั่งยืน เป็นต้น
จากความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น จึงได้ขยายพื้นที่ในการพัฒนาชุมชนมากขึ้น ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่จริง เพื่อเก็บข้อมูลและเชิญชุมชนมาร่วมหารือ เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีชุมชนเข้าร่วม 6 ชุมชน ที่ทำการผลิตผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราชใน 3 ลักษณะ คือ 1.ผ้ายกเมืองนคร โดยกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค อำเภอชะอวด 2.ผ้าบาติก โดยกลุ่ม 4 ป.บาตอก อำเภอนบพิตำ และกลุ่มสตรีพัฒนาผ้าบาติก บ้านสวนขัน อำเภอช้างกลาง จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนขันเกษตรยั่งยืน 3.ผ้ามัดย้อมทั้งในรูปแบบสีเคมีและสีธรรมชาติ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นน้ำตาปีแฮนด์เมด อ.พิปูน กลุ่มผ้ามัดย้อมพออวด จากกลุ่มวิสาหกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน อ.นบพิตำ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนตาเหน่ง อ.สิชล จากการสะท้อนปัญหาของชุมชน คณะนักวิจัยจึงได้ดำเนินการวิจัยในหัวข้อเรื่อง การพัฒนาผ้าพื้นถิ่นที่มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวี ต้านเชื้อแบคทีเรีย และสะท้อนน้ำด้วยวัสดุนาโน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม และผ้ายกซึ่งเป็นผ้าพื้นถิ่นจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
สำหรับวัสดุนาโน 2 ชนิดที่นำมาใช้ ได้แก่ วัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ วัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์เจืออนุภาคซิลเวอร์ และไทเทเนียมไดออกไซด์ ร่วมกับซิลเวอร์และอะคริลิคพอลิเมอร์ ให้มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวี ต้านเชื้อแบคทีเรียและสะท้อนน้ำ เพื่อช่วยยกระดับสินค้าในกลุ่มผ้าบาติก และผ้ามัดย้อมให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปผ้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่นกระเป๋า หน้ากากผ้ากักน้ำ และต้านเชื้อแบคทีเรียเนคไทผ้ายก เป็นต้น โดยผ้าที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำมาใช้ ได้แก่ ผ้าคอตตอน ผ้าฝ้าย และผ้ามัสลิน ผ้าฝ้ายผสม และผ้าเรย่อน ซึ่งสีที่ใช้ย้อมมาจากสีของธรรมชาติ เพื่อลดการใช้สารเคมี
ผศ.ปวีณา กล่าวด้วยว่า ผ้าตัวอย่างที่เคลือบด้วยอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ เจืออนุภาคซิลเวอร์ มีประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย การสะท้อนน้ำ และการป้องกันรังสียูวีดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ และไทเทเนียมไดออกไซด์ และเมื่อมีการซักล้างผ้าที่เคลือบจำนวน 20 รอบพบว่า ผ้ายังคงมีคุณสมบัติการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ดี และคุณสมบัติรังรังสียูวีของผ้าที่เคลือบด้วยอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์เจืออนุภาคซิลเวอร์ร่วมกับอะคริลิกพอลิเมอร์ จะมีความสามารถในการป้องกันรังสีอัลตราไวเลตได้ดีมาก
ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการทำงานวิจัยชิ้นนี้นั้น ประเภทผ้าของแต่ละกลุ่มที่มีลักษณะแตกต่างกัน เมื่อนำมาเคลือบด้วยอนุภาคนาโน จึงทำให้ประสิทธิภาพแตกต่างกันในเรื่องของประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย การสะท้อนน้ำ และป้องกันรังสียูวี แต่ทางทีมวิจัยได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
สำหรับผลิตภัณฑ์จากการพัฒนาผ้าพื้นถิ่นที่มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวี ต้านเชื้อแบคทีเรีย และสะท้อนน้ำด้วยวัสดุนาโน ได้พัฒนาเป็นรูปแบบของหน้ากากผ้ากันน้ำ กระเป๋ากันน้ำ ซึ่งผลิตภัณฑ์จากผ้าในกลุ่มต่างๆ จะผลิตภายใต้แบรนด์ภูมิภัฏ ที่พัฒนาขึ้นจากผ้าพื้นถิ่นที่ได้รับการปรับปรุงสมบัติ ได้แก่ เนคไท ปกปริญญาบัตร เป็นต้น
นอกจากผลิตภัณฑ์จากผ้าที่ผ่านการปรับปรุงคุณสมบัติด้วยวัสดุนาโนที่สังเคราะห์ได้ที่จะสามารถนำไปใช้งานได้ดี เช่น ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ และวอลเปเปอร์ เป็นต้น โดยในอนาคตทางทีมวิจัยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมาจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ หากประชาชนสนใจ สามารถติดต่อได้ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยมหาวิทยาลัยเป็นตลาดและตัวกลาง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของวิสาหกิจชุมชน ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีโอกาสร้างรายได้มากขึ้น
ที่มา : https://siamrath.co.th/n/308705