หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / การค้าเพชรและเครื่องประดับของจีนมีแนวโน้มขยายตัวสูง

การค้าเพชรและเครื่องประดับของจีนมีแนวโน้มขยายตัวสูง

กลับหน้าหลัก
08.04.2565 | จำนวนผู้เข้าชม 754

การค้าเพชรและเครื่องประดับของจีนมีแนวโน้มขยายตัวสูง


ความต้องการเพชรในจีนเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและยอดขายเครื่องประดับก็กระเตื้องขึ้นเช่นกัน จากผลสำรวจปัจจัยที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจเพชรของจีน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในยุควิถีใหม่ เห็นได้ว่าเมื่อจีนควบคุมสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ความต้องการเพชรและเครื่องประดับก็เพิ่มสูงขึ้น โดยตัวชี้วัดล้วนแสดงให้เห็นว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการที่ตลาดปรับตัวตามความนิยมของผู้บริโภคช่วงหลังล็อคดาวน์

การระบาดส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการนำเข้าและการค้าปลีกเพชรในจีนช่วงครึ่งแรกของปี 2020 แต่ผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาได้ชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ส่งผลให้ตัวเลขของปี 2020 อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ การฟื้นตัวยังคงดำเนินมาจนถึงปีนี้ โดยตัวเลขการนำเข้าและการค้าปลีกเพชรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021

มูลค่าการนำเข้าสุทธิของเพชรเจียระไนที่ตลาดแลกเปลี่ยน Shanghai Diamond Exchange (SDE) จากเดือนมกราคมถึงกันยายน 2021 อยู่ที่ราว 2.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าตัวเลขการนำเข้ารวมของปี 2020 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2019 ก่อนที่จะเกิดการระบาดเกือบร้อยละ 60 ด้วยแนวโน้มการเติบโตในปัจจุบัน SDE คาดว่าการนำเข้าเพชรเจียระไนในปีนี้อาจมีมูลค่าถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าสถิติสูงสุดก่อนหน้าในปี 2018 

Lin Qiang ประธานของ SDE ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การนำเข้าเพชรเติบโตขึ้นคือการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การปลดปล่อยกำลังการบริโภคที่ถูกจำกัดไว้ด้วยสถานการณ์การระบาด และการแข็งค่าของเงินหยวนซึ่งช่วยหักลบราคาเพชรที่เพิ่มขึ้นในหน่วยเงินดอลลาร์” การนำเข้าเพชรของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การก่อตั้ง SDE ในปี 2000 คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นถึงปี 2018 อยู่ที่ร้อยละ 26 ตัวเลขล่าสุดบ่งชี้ว่าตลาดเพชรของจีนกลับมาเติบโตตามปกติแล้ว

Lin กล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลจีนเพื่อปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าและการฟอกเงินช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดเพชรของจีนด้วยเช่นกัน

ในเดือนกันยายน 2020 สำนักศุลกากรจีนได้เริ่มดำเนินโครงการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเพชรทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลต่อสินค้ารวมมูลค่า 5.9 พันล้านหยวน (855 ล้านเหรียญสหรัฐ) และทำให้มีผู้ถูกควบคุมตัวราว 150 คน โครงการต่อสู้กับการลักลอบนำเข้านี้ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2021

น้ำหนักกะรัตและจำนวนเพชรที่นำเข้าผ่าน SDE เพิ่มขึ้นพอสมควรอันเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้า จำนวนผู้สมัครเป็นสมาชิกของ SDE ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากตลาดแลกเปลี่ยนแห่งนี้เป็นช่องทางเดียวในจีนที่นำเข้าเพชรได้ภายใต้นโยบายการเก็บภาษีของภาครัฐ

การนำเข้าเพชรก้อนที่ SDE มีมูลค่าถึง 49.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.24 เท่าในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2021 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019 ขณะเดียวกันสมาชิก SDE ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 386 ราย โดยกว่าครึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศ

Pan Bin ประธาน Shanghai Diamond Trade Association ยินดีที่รัฐบาลลงมือจัดการกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย “การลักลอบนำเข้าเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจถูกกฎหมายเสมอมา เพชรที่ลักลอบนำเข้าวางจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า จึงนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าสินค้าผิดกฎหมายมีราคาต่ำกว่า แต่ก็ไม่มีการออกใบแจ้งหนี้อย่างเป็นทางการ ผู้บริโภคจึงมักไม่ได้รับการคุ้มครองหากเกิดปัญหาขึ้น มาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้าช่วยสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและบรรยากาศที่ดีในตลาดค้าเพชร” Pan กล่าว อีกบทบาทหนึ่งของเขาคือการเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Shanghai Lao Feng Xiang Diamond Processing Center Co Ltd ซึ่งดูแลธุรกิจเพชรของผู้ขายเครื่องประดับชั้นนำของจีนอย่าง Lao Feng Xiang อีกด้วย

แนวโน้มในตลาดจีน

สภาพเศรษฐกิจที่น่าพอใจในจีนส่งผลดีต่อยอดขายเพชร โดยการบริโภค การส่งออก และการลงทุนเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ในปี 2020 รัฐบาลจีนได้เริ่มดำเนินกลยุทธ์ Dual Circulation ซึ่งช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและลดการพึ่งพาการส่งออก แม้อยู่ในภาวะโรคระบาด การบริโภคก็มีสัดส่วนร้อยละ 54.3 ของอัตราการเติบโต GDP โดยรวมในปี 2020 และรัฐบาลวางเป้าหมายที่จะเพิ่มตัวเลข GDP ต่อประชากรจาก 11,000 เหรียญสหรัฐในปี 2020 ให้เป็น 3 เท่าหรือ 4 เท่าของตัวเลขดังกล่าวภายในปี 2035

เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มการเติบโตปานกลางที่ร้อยละ 5 - 6 ในช่วงหลายปีข้างหน้า ดังนั้นตลาดเพชรของจีนจึงน่าจะเติบโตต่อเนื่องไปอีกหนึ่งทศวรรษ

Sanjay Kothari รองประธาน KGK Group เชื่อมั่นว่าตลาดเพชรของจีนจะก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง “เศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2021 ชี้ให้เห็นว่ารากฐานทางเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานที่รองรับการพัฒนาของตลาดเพชรจีนยังมั่นคงอยู่ จึงช่วยให้การนำเข้าเพชรของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง” เขากล่าว

ผู้ค้าส่งเพชรและสมาชิก SDE อย่าง Huabi (HB) Diamond พบว่าธุรกิจเพชรปรับตัวดีขึ้นในปีนี้เช่นกัน ยอดค้าส่งในช่วง 6 เดือนแรกปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากช่วงเดียวกันในปี 2020 แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2018 และ 2019 อยู่เล็กน้อย ตามข้อมูลจากประธานบริษัท Lydia Geng

“ผู้ค้าปลีกรายใหญ่หันไปหาเครื่องประดับสั่งทำเพื่อลดปริมาณสินค้าคงคลัง” เธอเผย “ความต้องการสินค้าขายส่งในกลุ่มเพชรทรงกลมขนาดมากกว่า 0.30 กะรัตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ยอดขายเพชรขนาดต่ำกว่า 0.30  กะรัตกลับลดลง เพชรทรงกลมขนาด 1.50 ถึง 2 กะรัตเป็นที่ต้องการสูง รวมถึงเพชรทรงแฟนซีขนาดมากกว่า 2 กะรัตด้วย”

Geng ระบุว่านอกจากผู้ค้าปลีกทั่วไป ความต้องการยังมาจากสตูดิโอออกแบบขนาดเล็กและร้านเครื่องประดับที่เชี่ยวชาญด้านสินค้าสั่งทำพิเศษด้วย ช่องทางออนไลน์ก็ทำผลงานได้ดีเช่นกัน “ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เราวางแผนที่จะจัดหาสินค้าให้เหมาะกับงานเครื่องประดับจากนักออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพชรทรงกลมขนาด 0.50 กะรัต, 0.70 กะรัต และ 1 กะรัต รวมถึงเพชรทรงแฟนซีขนาดมากกว่า 3 กะรัต” เธอเผย

ราคาเฉลี่ยในการนำเข้าเพชรเจียระไนแล้ว (เหรียญสหรัฐ/กะรัต)

ปี

จีน

สหรัฐอเมริกา

2017

1,033

2,205

2018

1,135

2,337

2019

1,087

2,090

2020

999

1,654

2021

1,047

1,778

หมายเหตุ : 1) ข้อมูลการนำเข้าของจีนในปี 2021 เป็นข้อมูลจากเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม

              2) ข้อมูลการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาในปี 2021 เป็นข้อมูลจากเดือนมกราคมถึงเมษายน

ที่มา: Shanghai Diamond Exchange และสำนักสำมะโนสหรัฐ (US Census Bureau)

ความสัมพันธ์ของธุรกิจเพชรจีน-อินเดีย

ตามข้อมูลจาก Gem & Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) เพชร 14 ใน 15 เม็ดได้รับการเจียระไนในอินเดีย สถานการณ์การค้าเพชรในจีนจึงสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปริมาณอุปทานเพชรในอินเดีย เพชรเจียระไนแล้วจากอินเดียจะถูกส่งมายังจีนแผ่นดินใหญ่โดยตรงหรือผ่านทางฮ่องกง

GJEPC ระบุว่าหลังจากการล็อคดาวน์ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ความต้องการสินค้าส่งออกจากอินเดียพุ่งสูงขึ้นทั้งในกลุ่มเพชรเจียระไนและเครื่องประดับฝังเพชร ในขณะที่ความต้องการเครื่องประดับเพชรจากภายในประเทศก็กระเตื้องขึ้นเช่นกันในครึ่งหลังของปี 2020 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021

ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2021 ปริมาณการผลิตพุ่งสูงขึ้นเต็มพิกัดเพื่อสนองความต้องการ ทว่าผลผลิตเพชรเจียระไนลดลงร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากอินเดียต้องเผชิญกับการระบาดของ Covid-19 ระลอกสอง ทำให้จำเป็นต้องมีการล็อคดาวน์และเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คำสั่งซื้อใหม่ต้องถูกระงับไว้ก่อนเนื่องจากข้อจำกัดด้านลอจิสติกส์ที่ส่งผลต่อสินค้าและบุคลากร

Kothari กล่าวว่า “ผู้ผลิตจีนต้องการกลับมาดำเนินการผลิตในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2021 แต่เนื่องจากการผลิตเพชรในอินเดียหยุดชะงัก จึงทำให้ขาดเพชรที่จะนำมาใช้ในการผลิต”

เมื่อสถานการณ์การระบาดระลอกสองเริ่มคลี่คลายและการฉีดวัคซีนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การผลิตเพชรในอินเดียก็กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง GJEPC คาดว่าความต้องการเครื่องประดับในอินเดียจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม 2022 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่

Sanjay Shah ประธานการประชุม Diamond Panel ของ GJEPC ระบุว่าความต้องการเครื่องประดับเพชรในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความต้องการที่ตกค้างในหมวดสินค้าหรูหรา และการใช้จ่ายภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ผู้บริโภคไม่ได้ท่องเที่ยวในต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2020 การชะลอตัวในฮ่องกงกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ค้าปลีกชั้นนำเปิดร้านแห่งใหม่ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่

“เรามองว่าจีนจะยังคงมีความต้องการที่แข็งแกร่งในช่วงที่เหลือของปี 2021” Shah กล่าว โดยคาดว่าเพชรเจียระไนจะยังคงระดับราคาเอาไว้ได้เนื่องจากการขาดแคลนเพชรก้อนในตลาดโลก

การส่งออกเพชรของอินเดียไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง

ปี

จีนแผ่นดินใหญ่

ฮ่องกง

มูลค่า

(ล้านเหรียญสหรัฐ)

อัตราการเติบโต

(ร้อยละ)

มูลค่า

(ล้านเหรียญสหรัฐ)

อัตราการเติบโต

(ร้อยละ)

2018

155.57

NA

9,825.27

NA

2019

94.01

-39.57

7,764.95

-20.97

2020

99.41

5.74

4,843.49

-37.62

มกราคม-มีนาคม 2021

51.87

199.68

1,586.36

59.58

ที่มา : Gem & Jewellery Export Promotion Council

การฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับ

ตลาดค้าปลีกเครื่องประดับจีนก็กำลังกระเตื้องขึ้นเช่นกัน โดยเครื่องประดับเพชรรับบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวครั้งนี้ ยอดขายปลีกเครื่องประดับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2021 ของผู้ขายเครื่องประดับในกลุ่มตัวอย่างซึ่งมียอดขายต่อปีมากกว่า 5 ล้านหยวน (775,000 เหรียญสหรัฐ) คิดเป็นมูลค่ารวม 173,000 ล้านหยวน (ราว 26,800 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 53 จากช่วงเดียวกันของปี 2020 ตามข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (China’s National Statistics Bureau)

ข้อมูลจากรายงาน Global Diamond Industry ประจำปี 2021 ของ Bain ระบุว่าตลาดค้าปลีกเพชรของจีนน่าจะมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6 ในปี 2020 แต่ก็น่าจะฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ตลาดเติบโตขึ้นร้อยละ 15 - 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019

ในงานวิจัยอีกฉบับหนึ่งเผยว่า แม้ว่าเครื่องประดับทองล้วนยังคงเป็นหมวดสินค้าขายดีในจีน แต่เครื่องประดับเพชรก็มีฐานมั่นคงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รายงานพัฒนาการอุตสาหกรรมเครื่องประดับจีน (China Jewellery Industry Development Report) โดย Foundation of the Gems & Jewelry Trade Association of China (GAC) ชี้ว่าจีนมียอดค้าปลีกเครื่องประดับโดยรวมอยู่ที่ราว 610,000 ล้านหยวน (88,440 ล้านเหรียญสหรัฐ) เมื่อปี 2020

“ยอดรวมมูลค่าค้าปลีกเครื่องประดับในจีนปี 2020 สูงถึง 88,400 ล้านเหรียญสหรัฐ”

รายงานของ GAC ระบุว่า เครื่องประดับทองล้วนมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 55.7 ของยอดขายโดยรวม ตามมาด้วยเครื่องประดับหยกซึ่งได้

แบรนด์ Lao Feng Xiang

ส่วนแบ่งตลาดไปร้อยละ 14.8 และเครื่องประดับเพชรที่ร้อยละ 13.1 ทั้ง 3 หมวดนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของยอดค้าปลีกเครื่องประดับในจีน

ตามข้อมูลจาก Pan เครื่องประดับเพชรมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 ของยอดขายปลีกรวมของ Lao Feng Xiang ที่ 51,700 ล้านหยวน (7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2020 แต่ทำยอดขายคิดเป็นร้อยละ 90 ของยอดขายเครื่องประดับอัญมณี

Lao Feng Xiang คาดว่าจะทำยอดขายปลีกเครื่องประดับรวม 60,000 ล้านหยวน (8.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีนี้และคาดว่ายอดขายเครื่องประดับเพชรจะกลับมาสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากที่ทำไว้ในปี 2019

ยอดค้าปลีกเครื่องประดับของจีนในปี 2020

หมวดหมู่

ทองล้วน

เพชร

หยก

เนไฟรต์

พลอยสี

มุก

แพลทินัมและเงิน

อื่นๆ

ยอดค้าปลีก 

(พันล้านเหรียญสหรัฐ)

49.29

11.60

13.05

4.35

4.35

2.17

1.45

2.17

ส่วนแบ่งตลาด

55.7%

13.1%

14.8%

4.9%

4.9%

2.5%

1.6%

2.5%

ที่มา : รายงานพัฒนาการอุตสาหกรรมเครื่องประดับจีนปี 2020

โดย Foundation of the Gems & Jewelry Trade Association of China (GAC)

ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต

ตลาดเครื่องประดับแต่งงานซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นปี 2021 มีคู่แต่งงานกว่า 2.1 ล้านคู่ที่จดทะเบียนสมรสในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากช่วงเดียวกันของปี 2020 “การแต่งงานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการซื้อเพชรในจีน” Stone Xu ประธานของ Zbird บริษัทผู้ขายปลีกเครื่องประดับเพชรชั้นนำกล่าว

แบรนด์ Lao Feng Xiang

Xu ให้ข้อมูลว่าตลาดเครื่องประดับแต่งงานนิยมเพชร 1 กะรัต รวมถึงเพชรที่มีขนาดระหว่าง 0.30 ถึง 0.50 กะรัต ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 75 ของยอดขายรวมของ Zbird โดยยอดขายจากลูกค้ากลุ่มนี้ราวร้อยละ 65 มาจากเพชรสี F-H ขณะที่ร้อยละ 80 มาจากเพชรที่ระดับความใส VS1 ถึง SI1

Pan ก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของตลาดเครื่องประดับแต่งงานต่อภาคค้าปลีกเครื่องประดับเพชร แหวนแต่งงานประดับเพชรขนาดเล็กเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเสมอที่ Lao Feng Xiang ในส่วนของเพชรขนาดใหญ่ขึ้นมานั้น เพชร 0.50 ถึง 1 กะรัตทำผลงานได้ดี โดยเพชร 1 กะรัตมีราคาขายราว 40,000 หยวน (5,800 เหรียญสหรัฐ) ถึง 50,000 หยวน (7,250 เหรียญสหรัฐ) เมื่อจำหน่ายตามงานส่งเสริมการขาย เช่น งานแสดงสินค้าและบริการด้านการแต่งงาน ราคานี้เหมาะกับงบประมาณของคู่แต่งงานใหม่ในเซี่ยงไฮ้พอดี ในขณะที่เพชรขนาด 2 กะรัตขึ้นไปมักขายให้ผู้บริโภควัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่

Xu จาก Zbird ชี้ว่าเพชรที่ผู้บริโภคนิยมซื้อมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากเพชรทรงกลมตามปกติแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนก็มองหาเพชรรูปทรงแฟนซีกันมากขึ้น อย่างเช่น เพชรทรงหมอน (cushion cut) และเพชรทรงพรินเซส นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของเพชรอยู่แล้วก็มักนิยมซื้อเครื่องประดับเพชรเป็นของขวัญให้ผู้เป็นที่รักเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การครบรอบแต่งงาน บางคนอาจสนใจที่จะให้ของขวัญเป็นเพชรสีแฟนซี ซึ่งเพชรสีเหลืองราคาปานกลางก็ได้รับความนิยมสูงสำหรับโอกาสเช่นนี้

เครื่องประดับเพชรทรงหมอน แบรนด์ Zbird


ยอดขายเครื่องประดับเพชรจะได้รับแรงผลักดันเพิ่มขึ้นอีกจากฤดูกาลชอปปิงและเทศกาลที่กำลังจะมาถึง ความต้องการมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงในช่วง Golden September และ Silver October ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนนิยมแต่งงานกันมากที่สุด ในขณะที่วัน Double 11 หรือวันคนโสดซึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน เทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่นั้นก็น่าจะเพิ่มยอดขายเพชรได้เช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

ตลาดกลุ่มต่างๆ และช่องทางการขายที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจการค้าเพชรของจีน Mabel Wong McCormick กรรมการผู้จัดการของ Natural Diamond Council (NDC) ประจำภูมิภาคจีนกล่าวว่า NDC กำลังมุ่งเป้าหมายไปยังผู้บริโภคชาวจีนรุ่นมิลเลนเนียล ซึ่งตอบสนองต่อการสื่อสารทางดิจิทัลได้ดีกว่า

“ผู้บริโภครุ่นใหม่สนใจความแปลกใหม่และนวัตกรรม ยินดีทดลองสิ่งใหม่ๆ สนใจเรื่องราคาน้อยลง และมักค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ การสร้างความเชื่อมั่นและปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ต้องอาศัยการใช้แพลตฟอร์มทางดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ การเปิดรับช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงการมอบประสบการณ์ที่เชื่อมต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างราบรื่น” McCormick กล่าว

NDC ได้ปรับกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อวางโครงสร้างของสื่อออนไลน์สำหรับผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยประกอบด้วยเว็บไซต์ Only Natural Diamonds และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่าง WeChat, Weibo และ Red นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับผู้ค้าปลีกเพื่อเน้นย้ำให้ลูกค้าตระหนักถึงคุณค่าของเพชรธรรมชาติ ผู้ค้าปลีกที่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์รายแรกของ NDC ในจีนแผ่นดินใหญ่คือ Chow Tai Fook Jewellery Group

Kothari จาก KGK ระบุว่าการเติบโตของกิจกรรมการขายทางออนไลน์เป็นผลสืบเนื่องวงกว้างจากการระบาดต่อภาคอุตสาหกรรมเพชรของจีน การขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มทางดิจิทัล เช่น พอดแคสต์, WeChat, Weibo, TikTok, Bilibili, Taobao, Tmall ตลอดจนกิจกรรมสำหรับสมาชิก VIP นั้นสร้างการเติบโตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทว่ายอดขายทางออนไลน์ของเครื่องประดับเพชรยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าหรูหราประเภทอื่นๆ หากต้องการประสบความสำเร็จในการย้ายไปยังช่องทางดิจิทัล Kothari กล่าวว่าภาคธุรกิจนี้จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคด้วยการมอบใบรับรองเพชร การรับประกัน และการรีวิว นอกจากนี้การขายทางออนไลน์ควรมอบความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นผ่านการจัดส่งฟรีและการคืนสินค้าหรือการ “ลองก่อนจ่าย” รวมถึงอาจมีส่วนลดพิเศษสำหรับผู้ซื้อทางออนไลน์

“ผู้ขายที่สร้างปฏิสัมพันธ์โดยใช้ทูตประจำแบรนด์, ผู้นำทางความคิดเห็น (Key Opinion Leaders: KOL) และผู้บริโภคที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็น (Key Opinion Consumers: KOC) ในจีน จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน” Kothari เสริม

Kothari กล่าวต่อไปว่า ข้อจำกัดด้านการเดินทางอันเนื่องมาจากโรคระบาดส่งผลให้ชาวจีนต้องใช้จ่ายเฉพาะกับผู้ขายภายในประเทศ ทำให้ยอดขายเครื่องประดับเพชรในจีนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ร้านค้าเครือข่าย

รายใหญ่มีอัตราการเติบโตของยอดขายเป็นตัวเลขสองหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 นอกจากนี้ ตลาดเพชรก็ได้ขยายไปยังเมืองระดับล่างด้วย ช่วยให้เพชรไม่เพียงเข้าถึงชนชั้นกลางแต่ครอบคลุมถึงผู้มีฐานะในวงกว้าง


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


------------------------------------------

ที่มา:

1) “Bright prospect for China’s diamond trade.” by Julius Zheng. JNA. (September/October 2021: pp. 12-17).

2) “SDE: China’s Diamond Trade Headed for a Record Year in 2021.” Retrieved October 28, 2020 from https://en.israelidiamond.co.il/news/retail-and-jewelry/sde-chinas-diamond-trade/


*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

กฎระเบียบอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, การค้า, แนวโน้ม, trade, forecast, GIT, ปี 2565, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'65