หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2564

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2564

กลับหน้าหลัก
08.11.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 1039

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2564

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 55.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 16,125.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 7,198.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.60 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,281.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 27.42 โดยนับเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียว มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าร้อยละ 25.51

ตารางที่ 1  มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2563 และปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ด้วยสัดส่วนร้อยละ 40.52 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไทยโดยรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 77.15 อันเป็นผลมาจากมูลค่าการส่งออกทองคำสะสมใน 2 ไตรมาสแรกที่ปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยราคาทองคำในเดือนกันยายนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,777.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) โดยมีปัจจัยกดดันจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ และส่งสัญญาณในการลดวงเงินตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลง รวมทั้งกองทุน SPDR ยังทยอยขายทองคำต่อเนื่องตลอดเดือนกันยายน

เครื่องประดับแท้ สินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 32.44 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.95 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับเงิน ขยายตัวได้ร้อยละ 20.13 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ตลาดสำคัญในอันดับที่ 1, 3 และ 4 ล้วนเติบโตได้ร้อยละ 51.70, ร้อยละ 257.76 และร้อยละ 18.89 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังเยอรมนีและจีน ตลาดในอันดับ 2 และ 5 ปรับตัวลงร้อยละ 9.20 และร้อยละ 32.57 ตามลำดับ การส่งออก เครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.76 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับที่ 1 และ 3-5 อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 106.55, ร้อยละ 124.43, ร้อยละ 28.55 และร้อยละ 15.14 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดในอันดับ 2 ลดลงร้อยละ 9.19 การส่งออก เครื่องประดับแพลทินัม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.42 จากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฮ่องกง ตลาดในอันดับที่ 1 และ 3-5 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 231.97, ร้อยละ 182.05, ร้อยละ 64.34, ร้อยละ 64.34 และร้อยละ 85.19 ตามลำดับ ขณะที่ญี่ปุ่น ตลาดอันดับที่ 2 ปรับตัวลงร้อยละ 0.29

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.94 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ขยายตัวได้ร้อยละ 31.33 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.29 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดทั้ง 5 อันดับแรก อย่างอินเดีย ฮ่องกง เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ล้วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 144.32, ร้อยละ 0.69, ร้อยละ 12.03, ร้อยละ 20.66 และร้อยละ 56.50 ตามลำดับ 

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 6.77 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เติบโตขึ้นร้อยละ 15.96 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.48 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง อิตาลี ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ตลาดในอันดับ 1 และ 3-5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 44.14, ร้อยละ 34.35, ร้อยละ 121.74 และร้อยละ 6.36 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับที่ 2 ลดลงร้อยละ 7.01 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน หดตัวลดลงร้อยละ 10.70 เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา ตลาดใน 2 อันดับแรก ได้ลดลงร้อยละ 21.63 และร้อยละ 48.17 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ตลาดในอันดับที่ 3-5 เติบโตได้ร้อยละ 31.01, ร้อยละ 363.39 และร้อยละ 92.10 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.27 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับที่ 1, 2, 4 และ 5 สามารถเติบโตได้ร้อยละ 86.03, ร้อยละ 56.71, ร้อยละ 27.79 และร้อยละ 14.82 ตามลำดับ ขณะที่ลิกเตนสไตน์ ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 1 ในปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงร้อยละ 53.93

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญต่างฟื้นตัว ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ แม้ว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเกิดขึ้น แต่ผลกระทบไม่รุนแรงเช่นการแพร่ระบาดครั้งก่อน ๆ จึงกระทบต่อการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่มากนัก ภาคการผลิตกลับมาดำเนินการเป็นปกติเพิ่มมากขึ้น การบริโภคสินค้าและบริการฟื้นตัวกลับคืนมารวมทั้งภาคการค้าระหว่างประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง จึงมีส่วนช่วยหนุนให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้ขยายตัวได้ โดยไทยส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อินเดีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ตลาดในอันดับ 1, 2 และ 4-10 ด้วยมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 56.74, ร้อยละ 3.61, ร้อยละ 64.79, ร้อยละ 139.92, ร้อยละ 11.14, ร้อยละ 11.88, ร้อยละ 39.44, ร้อยละ 75.28 และร้อยละ 35.76 ตามลำดับ

ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2563 และปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่ขยายตัวได้นั้นเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ต่างเติบโตขึ้นร้อยละ 51.70, ร้อยละ 106.55, ร้อยละ 20.66 และร้อยละ 86.03 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยัง ฮ่องกง ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับเงิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.69, ร้อยละ 44.14, ร้อยละ 56.71 และร้อยละ 20.65 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยัง อินเดีย ยังคงเติบโตได้ดีนั้นเนื่องมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 76 เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.32 ส่วนสินค้าที่หดตัวในตลาดนี้คือ โลหะเงิน พลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน

ขณะที่การส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ปรับตัวงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 80 รวมทั้งสินค้าสำคัญลำดับถัดมาอย่างเครื่องประดับเทียม และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 257.76, ร้อยละ 124.43, ร้อยละ 54.52 และร้อยละ 89.10 ตามลำดับ

การส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 15.14, ร้อยละ 18.10 และร้อยละ 10.85 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับแพลทินัมลดลงร้อยละ 0.29

ส่วนการส่งออกไปยัง เบลเยียม ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นเนื่องมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 85 รวมทั้งสินค้าสำคัญถัดมาอย่างเศษหรือของใช้ไม่ได้อื่น ๆ ที่ทำด้วยโลหะมีค่า/หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับทอง ล้วนขยายตัวได้ร้อยละ 12.03, ร้อยละ 311.54, ร้อยละ 72.83 และร้อยละ 91.99 ตามลำดับ

การส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 28.55, ร้อยละ 56.50 และร้อยละ 107.48 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ที่เติบโตขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างโลหะเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8,229.82, ร้อยละ 6.36, ร้อยละ 31.01 และร้อยละ 14.82 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยัง ออสเตรเลีย สามารถเติบโตได้ดี จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ต่างมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.89, ร้อยละ 105, ร้อยละ 98.12, ร้อยละ 162.44 และร้อยละ 65.37 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง เยอรมนี ตลาดในอันดับ 3 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.12 เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน ที่ครองสัดส่วนสูงสุดราวร้อยละ 78 รวมถึงเครื่องประดับเทียม ที่ปรับลดลงร้อยละ 9.20 และร้อยละ 13.88 ตามลำดับ

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 55.36 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า เติบโตได้สูงขึ้นร้อยละ 27.42 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.68 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2563 และปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ที่เติบโตนั้นเนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งเป็นคู่ค้ากับไทยส่วนใหญ่สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เป็นปกติ ควบคู่กับนโยบายส่งเสริมจากทางการ ทำให้ผลกระทบต่อภาคการผลิตเบาบางลง อีกทั้งประชากรในประเทศเหล่านี้มีอัตราการได้รับวัคซีนโควิด-19 อยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตลดต่ำลงกว่าการระบาดในระลอกก่อนหน้านี้ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหนุนทำให้การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยรวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยสินค้าที่มีความโดดเด่นของไทย คือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม รวมทั้งเพชรเจียระไนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน

แม้ว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับยังมีปัจจัยบวกหนุนทำให้เติบโตได้ แต่มีประเด็นที่ต้องต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อและมีการกลายพันธุ์ การส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรป ในการปรับลดวงเงินในโครงการ OE เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอัตราเงินเฟ้อในประเทศชั้นนำทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะเกิดเร็วขึ้น เป็นปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่สถานการณ์ในเอเชีย ญี่ปุ่นและจีนประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมทั้งการฟื้นตัวของประเทศอื่นในเอเชียที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีปัจจัยที่กระทบต่อในประเทศและประเทศคู่ค้าส่งผลต่อการส่งออกของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรใช้นโยบายที่เหมาะสมและมีการทบทวนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที อีกทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา การทำตลาดแบบดั้งเดิมหรือปรับเปลี่ยนได้ช้าอาจไม่ตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดรูปแบบใหม่ได้อีกแล้ว


ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)



*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2564, ม.ค.-ก.ย., สะสม 9 เดือน, Q3/2564, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'65