หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / กระแสชาตินิยมส่งเสริมเครื่องประดับทองโบราณในจีนเติบโต

กระแสชาตินิยมส่งเสริมเครื่องประดับทองโบราณในจีนเติบโต

กลับหน้าหลัก
18.02.2565 | จำนวนผู้เข้าชม 590

กระแสชาตินิยมส่งเสริมเครื่องประดับทองโบราณในจีนเติบโต


ราคาทองคำในปีนี้แม้ว่าจะไม่หวือหวาดังปี 2020 ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ทำสถิติราคาสูงสุดไว้ในเดือนสิงหาคม 2020 กระทั่งกลายเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุน แต่ในปีนี้ความน่าสนใจของทองคำไม่ใช่การเก็งกำไร แต่เป็นจังหวะสำหรับผู้บริโภคเครื่องประดับทองให้ซื้อหาได้ในราคาที่ไม่ผันผวนมากนัก โดยเฉพาะกระแสการตื่นเครื่องประดับทองสไตล์จีนโบราณที่เกิดขึ้นในจีน

เครื่องประดับทองสไตล์จีนโบราณไม่ว่าจะเป็นสร้อยข้อมือ กำไล จี้ หรือสร้อยคอ ที่มีลวดลายมังกร หงส์ ดอกโบตั๋น หรือลวดลายโบราณที่นิยมในแต่ละยุคสมัยของราชวงศ์จีน กลายเป็นที่ชื่นชอบและเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะชาวจีนที่มีอายุในช่วง 20-39 ปี เป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ช่วยผลักดันให้

ความต้องการทองคำในประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยกระแสความนิยมนี้เริ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2020 ทำให้ตลาดเครื่องประดับทองรายใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ขยายตัวมากกว่า 2 เท่าในครึ่งปีแรกของปี 2021 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

Guochao (国潮 guó cháo) หรือกระแสชาตินิยมที่ขยายวงกว้าง

ทำให้ชาวจีนหันมานิยมสินค้าที่มีสไตล์สะท้อนถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมประเพณีจีนมากขึ้น”

นอกจากความสวยงามประณีตบรรจงที่เครื่องประดับทองสไตล์จีนโบราณพึงมีแล้ว การผลิตยังต้องอาศัยช่างฝีมือที่มีทักษะสูงในการผลิต จึงทำให้ราคาของเครื่องประดับประเภทนี้สูงกว่าเครื่องประดับทองทั่วไปอย่างน้อย 20% แต่ทั้งนี้ Chow Tai Fook แบรนด์เครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดของจีน เปิดเผยว่า ยอดขายเครื่องประดับทองสไตล์จีนโบราณตั้งแต่ตุลาคม 2020 - มีนาคม 2021 คิดเป็น 40% ของยอดขายเครื่องประดับทองในจีน ขยายตัวถึง 29% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าเครื่องประดับประเภทอื่น ๆ

ภาพเครื่องประดับทองสไตล์จีนโบราณจาก www.scmp.com

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในระยะยาวพบว่า ผู้ผลิตเครื่องประดับทองหลายรายมีการขยายการลงทุน มีการวิจัยและพัฒนาด้านดีไซน์ของเครื่องประดับทองสไตล์จีนโบราณมากขึ้น เพราะตอบสนองกระแสความนิยมดังกล่าว รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษาวิจัยตลาดและอุตสาหกรรม Beijing Zhiyan Kexin Consulting ให้ข้อมูลว่า เครื่องประดับทองสไตล์จีนโบราณได้ขยายตัวขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงปี 2017-2019 และคาดว่าภายในปี 2024 ตลาดของเครื่องประดับชนิดนี้จะมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 15.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระแสความชื่นชอบเครื่องประดับทองแบบโบราณในจีน นอกจากสร้างความคึกคักให้ตลาดเครื่องประดับทองในประเทศแล้ว ยังทำให้ตลาดในประเทศเข้มแข็งสามารถเติบโตได้ในท่ามกลางวิกฤตในขณะที่หลายประเทศยังคงประสบปัญหา จึงอาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ประเทศอื่นจะใช้เพื่อสร้างตลาดภายในให้พร้อม ก่อนที่จะถึงวันที่โลกสามารถกลับมาเชื่อมโยงถึงกันในแบบเดิมได้อีกครั้ง 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


----------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง :

1) China’s jewellery sector sustains growth. Retrieved September 13, 2021. From  

https://jewellerynet.com

2) Dragons fly as Chinese millennials take a shine to gold. Retrieved September 13, 2021. From https://www.thejakartapost.com

3) ชาวจีนวัย "Millennial" เปลี่ยนลุครักชาติ! ยอดขายเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณพุ่งขึ้น 50% สืบค้นจาก https://www.sanook.com

4) กระแสความภูมิใจในสไตล์จีนๆ ที่จะมาเปลี่ยนมุมมองต่อ Made in China แบบเดิมๆ สืบค้นจาก https://www.everydaymarketing.co 


*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

ภาวะอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, จีน, การส่งเสริม, การเติบโต, GIT, ปี 2565, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'65