หน้าแรก / THTI Insight / ข่าวรายวัน / กรมหม่อนไหมขับเคลื่อน "มาตรฐานผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน"

กรมหม่อนไหมขับเคลื่อน "มาตรฐานผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน"

กลับหน้าหลัก
02.08.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 1614

กรมหม่อนไหมขับเคลื่อน "มาตรฐานผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน"

กรมหม่อนไหมขับเคลื่อน "มาตรฐานผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน" สร้างมูลค่าเพิ่มและความเชื่อมั่นผู้บริโภคอย่างยั่งยืน

กรมหม่อนไหมเดินหน้าให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานผ้าไหมไทย (ตรานกยูงพระราชทาน) เพื่อยกระดับการผลิตผ้าไหมของประเทศไทยให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าผ้าไหม และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค  มีผ้าไหมไทยที่ได้รับการรับรองมากกว่า 200,000 เมตร/ปี คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท/ปี สร้างรายได้ให้ผู้ผลิตได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

         

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า จากความต้องการใช้ผ้าไหมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งตลาดในประเทศ อันเนื่องมาจากนโยบายส่งเสริมรณรงค์การใช้ผ้าไทยในทุกโอกาส รวมถึงตลาดต่างประเทศซึ่งมีกลุ่มลูกค้าที่มีความนิยมต่อสินค้าในเชิงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ส่งผลให้การผลิตเส้นไหม ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการทอผ้า ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นำมาซึ่งการนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา คือ เส้นไหมนำเข้าบางส่วน "ด้อยคุณภาพ" ส่งผลต่อคุณภาพผืนผ้า และสืบเนื่องไปยังสินค้าแปรรูปอื่นๆ ที่มีผ้าไหมนั้นๆ เป็นส่วนประกอบ ซึ่งประการสำคัญคือ ส่งผลกระทบด้านลบต่อภาพลักษณ์ของผ้าไหมไทย เนื่องจากมักมีการแอบอ้างว่าเป็น "Thai Silk" จากกรณีดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระเมตตาและทรงห่วงใย จึงมีกระแสพระราชดำรัสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหาสาเหตุของปัญหาและแนวทางการแก้ไข และพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์ "นกยูงไทย" ให้เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย จำนวน 4 ชนิด ได้แก่


1) นกยูงสีทอง  (Royal Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมและวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริง ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน สาวด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ ทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ

2)  นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตขึ้นโดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยปรับปรุง สาวด้วยมือหรือสาวด้วยอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ไม่เกิน 5 แรงม้า ทอด้วยกี่ทอมือชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือหรือกี่กระตุก

3) นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) เป็นผ้าไหมชนิดที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ ใช้เส้นไหมแท้ไม่กำหนดชนิดพันธุ์ไหม  

4) นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยในด้านลวดลายและสีสันระหว่างเส้นใยไหมแท้เป็นหลักกับเส้นใยอื่น ๆ


โดยผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานทั้ง 4 ชนิดนี้ต้องย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และกรมหม่อนไหมได้ยื่นจดทะเบียนตรานกยูงพระราชทานเป็นเครื่องหมายการค้ากับกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมทั้งยื่นจดทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 35 ประเทศ


"ปัจจุบัน กรมหม่อนไหมได้ให้การรับรองมาตรฐานผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานแก่ผู้ผลิตทั่วประเทศแล้ว จำนวน 1,630 กลุ่ม 24,035 ราย ปีละมากกว่า 200,000 เมตร คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท/ปี โดยผลจากการขับเคลื่อนการให้บริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานฯ นอกจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตผ้าไหมไทยแล้ว ยังทำให้ผู้ซื้อหรือใช้ผ้าไหมมีความมั่นใจว่าผ้าไหมที่ผ่านการรับรองเป็นผ้าไหมแท้ สีไม่ตก และมีคุณภาพมาตรฐาน และถึงแม้ว่าจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)


แต่ผู้ผลิตผ้าไหมไทยยังคงมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไหมที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน โดยผ่านช่องทางการจำหน่ายทาง Social Media และ Platform ต่างๆ ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ดำเนินการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า แม้ภายใต้วิกฤติที่เกิดขึ้น เรายังคงสามารถสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรได้เสมอ" อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว


ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/pr/detail/78976

ข่าวรายวัน,สิ่งทอ,หม่อนไหม,มาตรฐาน,ผ้าไหม,ตรานกยูงพระราชทาน,ผู้บริโภค