อุตสาหกรรมรองเท้าของบราซิลแสดงความกังวลต่อการรวมกลุ่มระหว่างตลาดร่วมอเมริกาใต้ เวียดนาม และอินโดนีเซีย
หน่วยงานในท้องถิ่นแสดงความกังวลกับแนวคิดของการเปิดเสรีทางการค้าโดยการลดภาษีสินค้านำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันข้อตกลงการค้าเสรีตลาดร่วมอเมริกาใต้ เวียดนาม และอินโดนีเซียอยู่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
Haroldo Ferreira ประธานกรรมการบริหารของสมาคมรองเท้าบราซิลได้นำประเด็นนี้เข้าหารือกับนายเปาลู กูเดส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ โดยยืนยันว่าการเปิดเสรีทางการค้าจะต้องช่วยให้ต้นทุนของผู้ประกอบการภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ตามข้อตกลงการค้าเสรีตลาดร่วมอเมริกาใต้ เวียดนาม และอินโดนีเซียอยู่ในกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ไม่ได้มีการระบุถึงการลดต้นทุนการผลิตอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรองเท้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อมูลของ Abicalçados ระบุว่า เวียดนามและอินโดนีเซียมีความได้เปรียบเรื่องแรงงาน เนื่องจากทั้งสองประเทศให้สัตยาบันในอนุสัญญาแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO เพียงร้อยละ 13 และร้อยละ 11 ตามลำดับ ในขณะที่บราซิลได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาคุ้มครองแรงงานมากถึงร้อยละ 52 นอกจากนี้ ความแตกต่างในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันก็ส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันเช่นกัน โดยค่าแรงขั้นต่ำของบราซิลอยู่ที่ 326 เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ และอินโดนีเซียที่มีค่าแรงขั้นต่ำ 147 เหรียญสหรัฐ ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของบราซิลลดลงและไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ได้
Haroldo Ferreir ยังกล่าวอีกว่า เราสนับสนุนการเปิดเสรีการค้า แต่การเปิดเสรีการค้าจะต้องช่วยลดต้นทุนการผลิตในประเทศ และก่อให้เกิดการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศรวมถึงแนวทางการแข่งขันที่เป็นธรรม
มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในบราซิล
ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดต่อผลิตภัณฑ์รองเท้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ทั้งนี้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2553 โดยเก็บภาษีนำเข้ารองเท้าในอัตราคู่ละ 10.47 เหรียญสหรัฐ และยังรวมถึงรองเท้าที่นำเข้าจากเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยให้เหตุผลว่า ประเทศเหล่านี้ทำการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
เวียดนามและอินโดนีเซีย
ในปี 2562 เวียดนามเป็นผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 5.8 และอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ขณะที่บราซิลเป็นผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 3.7 เมื่อพิจารณาถึงการส่งออกพบว่า บราซิลไม่ได้เป็นประเทศผู้ส่งออกรองเท้ารายใหญ่ 10 อันดับแรก เนื่องจากการผลิตรองเท้าของบราซิลส่วนใหญ่มุ่งขายตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกรองเท้ารายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน
ที่มา : World Footwear: “Brazilian footwear industry concerned with possible FTA Mercosur-Vietnam-Indonesia”,June 15, 2021