หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมีนาคม 2564

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมีนาคม 2564

กลับหน้าหลัก
30.04.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 22298

ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมีนาคม 2564 

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 588.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 381.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 206.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 434.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 298.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 136.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 153.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว (สะสม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 (เดือนมกราคม-มีนาคม 2564) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 1,568.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 1,009.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.4 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 559.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.3 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) ณ ไตรมาส 1/2564 ของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 1,266.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 833.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 432.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 302.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก 

เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 26.2 และ 40.4 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และอินโดนีเซีย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในเดือนมีนาคม 2564 และในไตรมาส 1/2564 

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 25.0 และ 13.8 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดจีนและตลาดเกาหลีใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในเดือนมีนาคม 2564 และในไตรมาส 1/2564 เช่นเดียวกัน

ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) ที่ร้อยละ 23.3 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดเวียดนาม ที่ในเดือนนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ทั้งนี้ หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 5.1 ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดในกลุ่มอาเซียน ทียังคงปรับตัวลดลงในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดเมียนมา ที่ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 50 ทั้งการส่งออกในรายเดือน (มีนาคม 2564) และในไตรมาส 1/2564

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 10.4 และ 12.5 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ในเดือนมีนาคม 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 (YoY) 

ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนมีนาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า ในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 90.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.5, 306.3 และ 20.8 ตามลำดับ

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ (สะสม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 225.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 54.8 และ 26.7 

ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนมีนาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 60.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดจีน และเกาหลีใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.3 และ 112.8 แต่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์นี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.3 

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 159.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 8.9 ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีนและเกาหลีใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 27.6 และ 18.4 

ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนมีนาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 105.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดในกลุ่มอาเซียน (กัมพูชา และเมียนมา) ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.0 และ 62.3 ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดเวียดนามในเดือนมีนาคม 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นผ้าผืน (สะสม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 281.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงในการส่งออกไปยังตลาดตลาดในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดเมียนมา ที่ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 50 ทั้งการส่งออกในรายเดือน (มีนาคม 2564) และในไตรมาส 1/2564

 

ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนมีนาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 206.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 แต่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และเบลเยียม ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.3 และ 1.5

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 559.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ๆ ใน 3 อันดับแรกปรับตัวลดลง (สะสม) ในไตรมาส 1/2564

ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก

เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 29.2 และ 7.3

ขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) ที่ร้อยละ 6.2 แต่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 0.7 

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 6.5 และ 1.8 

ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนมีนาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 139.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีน ที่มูลค่าการนำเข้า 35.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เช่นเดียวกันกับตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 หรือที่มูลค่า 18.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 358.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากพิจารณาในรายตลาด พบว่า มีการนำเข้าจากตลาดจีนและญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 9.6 และ 8.3 หรือที่มูลค่า 102.5 และ 41.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนมีนาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 159.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากพิจารณาในรายตลาด พบว่า นำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและเวียดนาม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 และ 22.7 

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 474.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) จากตลาดจีนและเวียดนาม ที่ร้อยละ 15.5 และ 18.8 หรือที่มูลค่า 230.6 และ 52.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนมีนาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 89.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 และ 89.9 

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 270.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) จากตลาดจีนและอิตาลีเช่นเดียวกัน ที่ร้อยละ 1.6 และ 13.3 หรือที่มูลค่า 138.1 และ 17.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM)

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า ภาพรวมมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า ตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4, 44.1 และ 32.4 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4, 25.8 และ 66.6 ตามลำดับ 

ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.3, 33.1 และ 28.1 ตามลำดับ  

และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0, 3.7 และ 24.0 ตามลำดับ

ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)

และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากตลาดการนำเข้าทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5, 37.7 และ 162.6 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) แต่เมื่อพิจารณาการนำเข้าในรายตลาด พบว่า นำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดเวียดนามและไต้หวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 และ 25.6

และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากตลาดการนำเข้าทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7, 0.02 และ 42.7 ตามลำดับ

ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) ในไตรมาส 1 ปี 2564

สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย (สะสม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 (เดือนมกราคม-มีนาคม 2564) มีมูลค่า 1,568.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) ในไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า

ตลาดสหรัฐอเมริกา ภาพรวม (สะสม) ในไตรมาส 1/2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่าการส่งออกรวม 285.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่า 98.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในเดือนมีนาคม โดยดัชนีเศรษฐกิจเกี่ยวกับยอดค้าปลีกในเดือนดังกล่าว พบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหนุน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) มาตรการทางการคลังที่ให้เงินช่วยเหลือทางตรง 1,400 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับชาวอเมริกา 2) การฉีดวัคซีน covid-19 ในวงกว้าง และ 3) การผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด covid-19 เช่น มาตรการที่เข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ 

ตลาดญี่ปุ่น ภาพรวม (สะสม) ในไตรมาส 1/2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่าการส่งออกรวม 178.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันในเดือนมีนาคม 2564 ที่ร้อยละ 14.1 หรือที่มูลค่า 63.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid-19 ระลอกที่ 4 ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศและประเทศคู่ค้า 

ตลาดเวียดนาม ภาพรวม (สะสม) ในไตรมาส 1/2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่าการส่งออกรวม 122.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การส่งออกในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่า 51.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดจีน ภาพรวม (สะสม) ในไตรมาส 1/2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่าการส่งออกรวม 104.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกันกับการส่งออกไปยังตลาดจีนในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 34.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือที่มูลค่า 41.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และตลาดอินโดนีเซีย ภาพรวม (สะสม) ในไตรมาส 1/2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่าการส่งออกรวม 66.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การส่งออกในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่า 24.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องเฝ้าระวังสำหรับการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในไตรมาสถัดไป และไปจนถึง ณ สิ้นปี 2564 อาทิ การแพร่ระบาดของ covid-19 ทั้งในประเทศและในประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งพบว่าในหลายประเทศเริ่มกลับมามีการแพร่ระบาดรอบใหม่ รวมถึงค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกหากไม่มีการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาหนี้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อกำลังซื้อในอนาคต 

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของวัคซีนต้านไวรัส covid-19 ที่ได้เริ่มทยอยฉีดในหลายประเทศทั่วโลก และรวมถึงประเทศไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงในหลายประเทศสำคัญของโลกต่างได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและบรรยากาศการบริโภคน่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังจากนี้

-------------------------------------------------

Source : 

1) Information and Communication Technology Center with Cooperation of The Customs Department

2) สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน

 

จัดทำและเรียบเรียงโดย 

ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) 

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

30 เมษายน 2564

 

 

นำเข้าส่งออกสิ่งทอ, อุตสาหกรรม, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, Import, Export, Textile, Clothing, ปี 2564, เดือนมีนาคม, ไตรมาส 1/2564, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'64