หน้าแรก / THTI Insight / ข่าวรายวัน / กรุงไทยชี้โควิดตปท.สงบ ดันส่งออกโต 4% ชี้สิ่งทอทางการแพทย์โตโดดเด่น

กรุงไทยชี้โควิดตปท.สงบ ดันส่งออกโต 4% ชี้สิ่งทอทางการแพทย์โตโดดเด่น

กลับหน้าหลัก
12.03.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 380

กรุงไทยชี้โควิดตปท.สงบ ดันส่งออกโต 4% ชี้สิ่งทอทางการแพทย์โตโดดเด่น

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย มองส่งออกไทยทยอยฟื้นตัว หลังตัวเลข 2 เดือนเติบโต 5% เชื่อโควิด-19 ต่างประเทศคลี่คลายดันการเติบโตทั้งปี 4% เผยสิ่งทอทางการแพทย์ หรือ Medical Textile เนื้อหอมโตโดดเด่น คาดมีแนวโน้มเติบโตที่ 8.3% ต่อปี ในช่วงปี 2563-2570


ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การฟื้นตัวภาคการส่งออกของไทยทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรก (ธ.ค.63-ม.ค.64) จะพบว่ามีมูลค่าอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5% (ไม่รวมทองคำ) เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นข่วงก่อนที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย ทำให้มีความต้องการสินค้ากลับมารวดเร็ว จึงเป็นแรงสนับสนุนภาคการส่งออก


อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าการเติบโตภาคการส่งออกของแต่ละประเทศมีจุดอ่อน-จุดแข็งแตกต่างกัน เช่น ประเทศไทย จะเห็นสินค้ากลุ่มสุขภาพและถุงมือยางมีการเติบโตโดดเด่น รวมถึงสินค้า Medical Textile ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นถึง 5% ต่อปี และการเติบโตจะขยายตัวได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทสิ่งทอทั่วไปที่มีอัตราการเติบโต 2% ต่อปี และจะเห็นว่าบริษัทหน้าใหม่ขยายตัวเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้นสอดคล้องกับความต้องการที่มีเพิ่มขึ้น


“ตอนนี้โควิดในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย จะทำให้ดีมานด์ความต้องการสินค้ามีมากขึ้น และไทยเป็นประเทศที่พึงพาการส่งออกจะได้รับอานิสงส์การเติบโต โดยจะเห็นการเติบโตภาคการส่งออกได้มากกว่านี้ เพราะตอนนี้เราเจอปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ด้วย แต่ทั้งปีมองว่าการส่งออกจะเติบได้ 4% เพราะตอนนี้ทุกประเทศทยอยฟื้นตัว”


ทั้งนี้ มองว่า ความต้องการสินค้าทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำให้ธุรกิจสิ่งทอทางการแพทย์มีศักยภาพ จัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ (Thailand Board of Investment: BOI) สะท้อนจากมูลค่าเงินลงทุนของโครงการสิ่งทอทางการแพทย์ที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอ เพิ่มขึ้นราว 4 เท่าตัว จาก 405 ล้านบาท ในปี 2561 เป็น 2,148 ล้านบาท ในปี 2563


ทั้งนี้ ประเมินว่าธุรกิจสิ่งทอทางการแพทย์มีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าสิ่งทอเทคนิคอื่น ได้แก่ สิ่งทอในกลุ่มยานยนต์ สิ่งทอในภาคอุตสาหกรรม และสิ่งทอทางกีฬา โดยคาดว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่ธุรกิจสิ่งทอทางการแพทย์คือ ผู้ประกอบการในธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดิม เนื่องจากสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์จากสายการผลิตที่มีอยู่ได้ นอกจากนี้ ยังรวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจเคมีภัณฑ์ เนื่องจากมีความได้เปรียบที่มีวัตถุดิบหลัก อาทิ เม็ดพลาสติก


“สิ่งทอทางการแพทย์เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added) เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์สิ่งทอทั่วไป เป็นโอกาสใหม่ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่ยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งศูนย์ทดสอบผ้าและรับรองคุณภาพสิ่งทอทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโลก เช่น CE ของสหภาพยุโรป รวมถึงการช่วยเหลือ SMEs ให้มีอำนาจต่อรองราคาวัตถุดิบ และผนึกห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจนี้ให้เข้มแข็ง”


นางสาวนิรัติศัย ทุมวงษา นักวิเคราะห์ กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการแพทย์ที่ผู้ประกอบการไทย มีศักยภาพลงทุนในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า จะเป็นเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกร่างกาย ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะทางการแพทย์ (Medical and Patient Care) ที่ทำจากผ้า Woven (ชนิดที่ซักแล้วใช้ซ้ำได้) เช่น หน้ากากผ้าที่สะท้อนน้ำและกันแบคทีเรีย 2) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ที่ทำจากผ้า Nonwoven (ชนิดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง) เช่น ชุด PPE


และ 3)ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อสุขอนามัย (Health and Wellness) เช่น ผ้าปูเตียงที่กันไรฝุ่น โดยประเมินว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการแพทย์จะขยายตัวเฉลี่ยที่ 8.7% ต่อปี ในช่วงปี 2563-2570 โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่มักใช้ในห้องผ่าตัดมีแนวโน้มเติบโตมากถึง 144% ต่อปี และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อสุขอนามัยจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 8.0% ต่อปี โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น กันแบคทีเรีย มีแนวโน้มเติบโตที่ 8.4% ต่อปี ขณะที่สิ่งทอทางการแพทย์ที่ใช้ภายในร่างกายเป็นโจทย์ที่ท้าทายแก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาอีก 5-10 ปี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง


“แม้กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อสุขอนามัยมีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่า แต่มีความน่าสนใจตรงที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งหมายถึงฐานตลาดที่กว้าง และไม่จำเป็นต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งมักใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงมองว่าทั้งสองกลุ่มมีศักยภาพไม่แพ้กัน”


ที่มา : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-627403

ข่าวรายวัน,สิ่งทอ,เครื่องนุ่งห่ม,กรุงไทย,สิ่งทอทางการแพทย์,Krungthai COMPASS,สิ่งทอเทคนิค