หน้าแรก / THTI Insight / องค์ความรู้ / สยามสแควร์กับกระแสการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย

สยามสแควร์กับกระแสการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย

กลับหน้าหลัก
06.04.2561 | จำนวนผู้เข้าชม 3336

ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นไทยทั้งที ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต่างมีภาพทรงจำ มุมมองความคิด และประสบการณ์ชีวิตเกี่ยวกับสยามในแบบของตัวเอง จึงไม่แปลกอะไรที่พื้นที่แห่งนี้จะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน นักออกแบบ ผู้กำกับ เจ้าของธุรกิจ ตลอดจนเป็นฉากหลังประกอบชีวิตผู้คนแตกต่างกันไปราวกับหนังคนละม้วน พื้นที่บริเวณสยามจึงเปรียบเสมือนบทบันทึกทางประวัติศาสตร์นานกว่า 50 ปี ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงด้านรสนิยมและกระแสของวัยรุ่นไทยทุกยุคสมัย วัฒนธรรมวัยรุ่น (Youth Culture) ก่อตัวขึ้นที่นี่ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งด้านดนตรี แฟชั่น ศิลปะ และไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสแก่ประชาชนทั่วไปในปี 2542 โดยมีสถานีสยามเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางระหว่างสายสุขุมวิทกับสายสีลม ยิ่งทำให้พื้นที่ย่านนี้เป็นแม่เหล็กดึงดูดภาคเอกชนและภาครัฐเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่ และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจมาจนถึงวันนี้

จากสมรภูมิธุรกิจสุดโหด สู่บทบาทการพัฒนาย่านของบริษัทอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการค้า

ด้วยความเป็นศูนย์กลางของความเจริญทางด้านเศรษฐกิจการค้า ปัจจุบัน ย่านสยามเป็นแหล่งรวมร้านค้ากว่า 4,200 ร้านค้า ที่มุ่งตอบสนองความต้องการและมอบประสบการณ์ในทุกๆ ด้าน อาทิ สินค้าแฟชั่น ร้านอาหาร ศูนย์บริการทางธุรกิจ มีผู้สัญจรไปมาภายในย่านสยามราว 400,000 คนต่อวัน เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางการสัญจรหลักของกรุงเทพฯ ย่านสยามจึงขึ้นชื่อว่าเป็นสนามประลองทางการค้าสุดโหดทั้งสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่ที่ต้องฝ่าฟันเพื่อพิชิตตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ รวมทั้งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกที่เล็งเห็นโอกาสและความท้าทายจากย่านนี้ ซึ่งแม้แต่สูตรสำเร็จของการทำธุรกิจใดๆ ก็อาจใช้ไม่ได้ผลกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นนี้

อันที่จริง เหล่าผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ภายในย่านนี้ ต่างก็เป็นกำลังหลักที่ช่วยพัฒนาพื้นที่ย่านสยามให้มีเอกลักษณ์เฉพาะและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 3 กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ คือ สยามพิวรรธน์ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) และกลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ ได้ร่วมมือกันจัดตั้งสมาคมการค้าพลังสยาม (Siam Synergy) เพื่อพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สร้างศักยภาพการแข่งขันและผลักดันให้ย่านสยามเป็นยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจการค้าของกรุงเทพฯ และทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจต่างก็เป็นผู้เล่นรายหลักในสมรภูมิธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจการค้าและความหมายของย่านสยามมากว่า 5 ทศวรรษ เช่น การปรับปรุงพัฒนาอาคาร การก่อสร้างทางเดินยกระดับ และการสนับสนุนผู้ประกอบการ

22.jpg

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งมีศูนย์การค้าในพื้นที่ย่านนี้ด้วยกันถึง 3 แห่ง คือ ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ และศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นรายแรกที่นำร่องจับมือกับบีทีเอส ทำทางเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้าเข้าสู่อาคาร ทำให้ผู้คนเดินทางเข้ามาได้สะดวกและถือเป็นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ของธุรกิจค้าปลีกบนพื้นที่ทำเลดังกล่าวนับจากนั้นเป็นต้นมา ทำให้บรรดาห้างค้าปลีกหันมาสร้างทางเดินเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้าเข้าสู่อาคารแทบทุกสถานีใจกลางเมือง อย่างไรก็ตาม ด้วยวัฏจักรค้าปลีกที่มีอายุสั้นลงในปัจจุบัน ผู้บริโภคมองหาความแปลกใหม่ตลอดเวลา ทางบริษัทจึงปรับตัวอยู่บ่อยครั้งและมีหน่วยการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะ ล่าสุด การปรับโฉมใหม่ของสยามดิสคัฟเวอรี “ไลฟ์สไตล์สเปเชียลตีสโตร์” ได้รับความสนใจจากสื่อไทยและต่างชาติ ด้วยการจัดดิสเพลย์สินค้าตามแบรนด์บนพื้นที่เปิดกว้าง เพื่อนำเสนอสินค้าตามความสนใจและไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ทั้งยังสามารถคว้ารางวัล World Retail Awards ในสาขา Store Design of the Year มาครองในปี 2017

33.jpg

ย่านสยามเป็นย่านแห่งความหลากหลายและมีสินทรัพย์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ประกอบด้วย 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ 1) พื้นที่ฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน 2) พื้นที่ฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของโครงการสยามสแควร์ 3) พื้นที่ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของโครงการเอ็ม บี เค สนามกีฬาแห่งชาติ และโครงการพัฒนาพื้นที่ถนนบรรทัดทอง 4) พื้นที่ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และโครงการพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน

จากเวทีแจ้งเกิดของเหล่าดีไซเนอร์ไทยสู่ยุคแห่งคอนเซ็ปต์สโตร์และตลาดออนไลน์

หลังจากโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่นถูกพับลงไป รัฐบาลปัจจุบันได้เปลี่ยนมาผลักดันการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแฟชั่นอาเซียนแทนในปี 2557 แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยและนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มดีไซเนอร์ไทยในสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพฯ (Bangkok Fashion Society หรือ BFS) โดยมีย่านสยามเป็นเวทีแจ้งเกิดนักออกแบบหน้าใหม่ ธุรกิจเอกชนกลับมีบทบาทเด่นชัดในการสนับสนุนกลุ่มแฟชั่นดีไซเนอร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง จากการที่บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ได้เปิดพื้นที่การจำหน่ายสินค้าของแบรนด์แฟชั่นไทยในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรีและศูนย์การค้าสยามพารากอน อีกทั้งยังเข้าไปทำงานกับนักออกแบบไทยและแบรนด์สินค้าอย่างใกล้ชิด เช่น ทำการตลาดแบรนด์สินค้าเพื่อเพิ่มคุณค่าและสร้างมูลค่าผ่านการเล่าเรื่องราว หรือแม้แต่เปิดโอกาสให้แบรนด์และผู้ค้าทุกรายมีส่วนร่วมในการวางคอนเซ็ปต์การออกแบบร้านค้าในสยามเซ็นเตอร์

ข้ามกลับมาฝั่งสยามสแควร์ที่ยังคงเป็นศูนย์ย่านการค้าเชิงราบ ฝูงชนพลุกพล่าน แต่ก็ไม่ได้เป็นทำเลเดียวที่นักออกแบบหวังจะแจ้งเกิดหรือเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์แห่งเดียวเหมือนในอดีต เพราะคนรุ่นใหม่เลือกใช้ช่องทางการโปรโมท ติดต่อซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ซึ่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย เร็ว และลดความเสี่ยงจากการลงทุนเช่าพื้นที่ หรือไม่ก็รวมตัวกันเปิดร้านประเภทมัลติแบรนด์ แต่ก็ยังมีธุรกิจและบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นตามแรงกระเพื่อมจากเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภค

44.jpg

สตรีทแฟชั่นในไทยถือเป็นคลื่นวัฒนธรรมอีกลูกที่เติบโตมาจากค่านิยมความชอบของเฉพาะกลุ่ม ก่อนก่อตัวเป็นกระแสหลักตามเทรนด์แฟชั่นของโลกซึ่งหมุนกลับมาหาสปอร์ตแวร์และสตรีทแวร์อีกครั้ง ร้านค้าและแบรนด์สตรีทแวร์สัญชาติไทยแข่งกันผุดขึ้นในสยาม กระทั่งไต่ระดับขึ้นสู่ไฮ-เอนด์ โดยเฉพาะตลาดเสื้อผ้าผู้ชาย ไม่ทันไรสยามสแควร์ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งช้อปฯ สนีกเกอร์และสินค้าสตรีทยอดนิยมที่ดังมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ อนุพงศ์ คุตติกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Carnival ร้านเสื้อผ้าและรองเท้าสตรีทแฟชั่นแบบมัลติแบรนด์เล่าว่า ด้วยความที่โตมากับการเดินสยามและมีภาพจำว่าทำเลนี้เป็นจุดศูนย์กลางด้านแฟชั่นของคนวัยรุ่นแห่งเดียวในไทย แถมเดินทางสะดวก จึงเปิดร้านแรก Converse Carnival ในซอยสยามสแควร์ 10 เน้นขายเฉพาะรองเท้าคอนเวิร์สรุ่นหายาก ก่อนเปลี่ยนมาจำหน่ายสินค้าแบบมัลติแบรนด์ในนาม Carnival โดยทำการตลาดผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ทำคอนเทนต์รีวิวเองทั้งบทความและวิดีโอ จับมือกับแบรนด์สตรีทไทยทำคอลเลคชั่นพิเศษ ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภควงกว้าง ปัจจุบันธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 6 เปิดบริการ 6 สาขา โดย 2 สาขาปักหลักในสยามสแควร์ ซอย 1 กับซอย 7 ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์สโตร์ที่มีคาเฟ่สำหรับนั่งพบปะพูดคุยในตัว เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่มองหาประสบการณ์ใหม่ๆ

อนุพงศ์กล่าวว่าการรักษาภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญในยุคแห่งการแข่งขันระหว่างร้านค้ามัลติแบรนด์อื่นๆ กับห้าง ซึ่ง Carnival พยายามรักษาตัวตนและจุดยืนของร้านที่ได้รับการไว้วางใจในการจำหน่ายสินค้าจากแบรนด์ดัง เช่น อาดิดาส กับ ไนกี้ ซึ่งไม่มีวางขายที่อื่น มีการจัดระบบสมาชิกและการสะสมแต้ม คอยคัดสรรสินค้าให้ตรงกับกลุ่มผู้บริโภค ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ Carnival รุกตลาดออนไลน์เต็มตัวหลังจากเปิดหน้าร้านได้เพียง 3 ปีทำให้เขาได้เปรียบกว่าเจ้าอื่นที่เริ่มช้ากว่า ทางร้านยังวางแผนขยายสัดส่วนของออนไลน์สโตร์เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางที่ขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เข้าถึงกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ และสร้างรายได้มากถึงร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมดในปัจจุบัน แต่ก็ยังมองว่าหน้าร้านยังมีความจำเป็น เพราะเลือกเฉพาะทำเลที่มีทราฟฟิกสูง จึงมีโอกาสขยายฐานกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ ไปด้วย

“ผมคิดว่าสยามสแควร์ไม่เหมือนกับสมัยก่อนแล้ว เมื่อก่อนมันเป็นที่แฮงเอาต์ที่คนสามารถมาเดินเล่นเรื่อยเปื่อยได้ แต่ปัจจุบัน คนมีทางเลือกเยอะขึ้น มีสยามพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ ที่เดินแล้วเย็นสบายกว่า สยามสแควร์กลายเป็นที่ที่คนเรียกกันว่า 'สยามร้อน' คนส่วนใหญ่ตั้งใจมาเพื่อซื้ออะไรแล้วก็กลับเลย ไม่ได้มาเดินเล่นเหมือนเมื่อก่อน เพราะฉะนั้นทราฟฟิกก็อาจจะลดลง”

55.jpg

© flickr.com/photos/prin_t

สำรวจชีพจรทางศิลปวัฒนธรรมใจกลางเมือง

ถัดจากถนนพระราม 1 ที่ขนาบข้างด้วยศูนย์การค้าใหญ่โตคึกคักและร้านรวงหลายพันแห่ง อาคารสีขาวรูปทรงทันสมัยออกแบบโดยบริษัท โรเบิร์ต จี บุย แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน เปิดต้อนรับสาธารณชนตั้งแต่ปี 2551 โดยปี 2559 มีผู้เข้าชมราว 1.2 ล้านคน และสัญญาณชีพจรของศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยก็ดังขึ้นมาจากที่นี่

หากมองผ่านสายของนักลงทุน เรียกได้ว่านี่คือทำเลทองซึ่งรวบรวมทุกอย่างไว้ในพื้นที่เดียว ย่านการค้า โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจึงเกิดขึ้นที่นี่ เพื่อพาศิลปะเข้ามาใกล้ชิดมวลชนให้ได้มากที่สุด และถ้ามองในระยะยาว การลงทุนด้านศิลปวัฒนธรรมก็น่าจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ที่จะได้พัฒนาคน สังคม และเศรษฐกิจไปพร้อมกัน      

“เราคุยกันมาตลอดว่าศิลปะมันดูห่างไกลจากประชาชน เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำขึ้นมาทั้งที ก็ควรให้มันใกล้ชิดประชาชน ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมากและอยู่ในความดูแลของกทม.อยู่แล้ว และหอศิลป์กรุงเทพฯ มันเริ่มมาจากการรณรงค์ของคนในชุมชนศิลปะ มหาวิทยาลัย คณาจารย์  เครือข่ายศิลปินทั้งหมดมารวมตัวกัน ไม่ใช่เป็นลักษณะของนโยบายจากข้างบนลงมา  แต่เป็นการเรียกร้องจากข้างล่างขึ้นไป โดยคนที่ต้องการ คนที่ใช้งาน ศิลปิน นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ เพราะกรุงเทพฯ ก็เจริญเติบโตมาขนาดนี้แล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีโครงสร้างที่จะรองรับการเติบโตของชุมชนศิลปะด้วย” ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าว

แนวทางการบริหารจัดการในปัจจุบัน คือ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สนับสนุนศิลปินควบคู่กับพัฒนาผู้ชมให้เข้าใจคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมและมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ผ่านการจัดนิทรรศการและกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เช่น การบรรยาย เสวนา อบรมสัมมนา จนถึงการจัดฉายภาพยนตร์และการจัดแสดงคอนเสิร์ตแบบฟอรัม (ไม่ใช่เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว) ในขณะเดียวกัน กิจกรรมเหล่านี้ก็จะเป็นตัวสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 18-30 ปีที่เป็นผู้ใช้บริการหลัก   

“เรามองว่าหอศิลป์เป็นชีพจรทางวัฒนธรรมของเมือง คุณแตะตรงนี้แล้วคุณจะรู้ว่ามีอะไรอยู่บ้าง มันอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่พอมันมีแหล่งรวมขึ้นมา คนจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นว่าศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมีตัวตนอยู่จริง ก่อนหน้านี้มันกระจัดกระจายอยู่หลายที่ เกินกว่าที่วิถีชีวิตคนเมืองซึ่งยุ่งมากจะเห็นภาพรวมอย่างเป็นรูปธรรม แล้วถ้าคุณอยากจะค้นหาลึกลงไปกว่านั้น มีความสนใจและเวลามากพอ คุณก็ค่อยเข้าไปตามที่ต่างๆ เดี๋ยวนี้มีแกลเลอรีทั่วกรุงเทพฯ กว่า 36 ที่ เหมือนมีชีพจรเต้นเต็มไปหมด ไม่ได้มีแค่วัด วัง ซึ่งเป็นเรื่องของชนชั้นผู้นำเท่านั้นที่เป็นผู้อุปถัมภ์สนับสนุนหรือเป็นผู้นำเสนอรสนิยมให้กับคนในประเทศ แต่มันเป็นเรื่องของคนธรรมดา คนชนชั้นกลางและคนทั่วไปที่สามารถมีพื้นที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้”

ย่านสยามสแควร์เปรียบเสมือนกับส่วนย่อ 1:10 ของกรุงเทพฯ ที่ดึงดูดความต้องการอันหลากหลายของผู้คนมารวมกันทำให้ภูมิทัศน์และความหมายของสยามสแควร์แปรเปลี่ยนไปตามผู้เล่นหน้าเก่าใหม่ ระบบนิเวศ และบริบทของยุคสมัย วันนี้ สยามสแควร์อาจไม่ใช่แหล่งรวมจิตวิญญาณของวัยรุ่น แต่เป็นได้ทั้งตลาดปราบเซียน พื้นที่เชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง กระจกสะท้อนโลกทุนนิยม เพราะถึงอย่างไร นี่คือย่านที่เกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อยที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ CT

Did You Know?

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยระบุว่า ราคาที่ดินบริเวณสยามสแควร์เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 8 ต่อปี จากเดือนธันวาคม 2537 เป็นเงิน 400,000 บาท/ตร.ว. มาเป็น 1,900,000 บาท/ตร.ว. ในเดือนธันวาคม 2558 เพราะมีรถไฟฟ้า 2 เส้นตัดผ่านสยามสแควร์ ทำให้ราคาที่ดินสูงกว่าย่านเยาวราชถึงร้อยละ 58

เรื่อง: ปิยพร อรุณเกรียงไกร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คุณมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
คุณอนุพงศ์ คุตติกุล ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Carnival

ที่มา:
บทความ “เปิดโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น เพื่อยกระดับนักออกแบบไทย” จาก ryt9.com 
บทความ "แลนด์มาร์ก" ค้าปลีก 5 ย่าน 5 ทำเล...แห่ยึดใจกลางเมือง” จาก prachachat.net
รายงานประจำปีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 2558
property.chula.ac.th
wikipedia.org
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) http://www.tcdc.or.th/articles/others/27388/#สยามสแควร์กับกระแสการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย

สิ่งทอ,สิ่งทอ