วงการเครื่องประดับปรับธุรกิจรับความท้าทายในปี 2020
ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับผ่านพ้นความยากลำบากในปี 2019 มาได้ ทว่าในปี 2020 นี้ ประเด็นที่อาจส่งผลต่อตลาดไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งของสหรัฐ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และเหตุความไม่สงบในฮ่องกง ตลอดจนประเด็นร้อนอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ที่รุนแรงมากขึ้นจนขยายวงกว้างไปยังหลายประเทศทั่วโลก น่าจะยังคงทดสอบความสามารถในการรับมือของผู้ประกอบการในแวดวงเครื่องประดับต่อไปอีกยกหนึ่ง
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลต่อทุกกิจการในโลกธุรกิจ คำถามที่แท้จริงคือ ทำอย่างไรบริษัทจึงจะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ รายงานจาก McKinsey & Company ระบุว่า เคล็ดลับก็คือการก้าวไปข้างหน้าและตัดสินใจเรื่องยากๆ ได้อย่างรวดเร็ว
บทความ “Improving your company’s business resilience” ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา ได้นำเสนอการศึกษาที่สำรวจว่าบริษัทต่างๆ เติบโตได้อย่างไรในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2008 การวิเคราะห์ครั้งนี้เน้นไปยังกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ราว 1,100 แห่ง โดยรวบรวมบริษัทจากกลุ่มอุตสาหกรรมและจากภูมิภาคที่แตกต่างกัน และต้องเป็นบริษัทที่ทำรายได้เกินกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
“เราพบว่ากิจการที่รับมือกับวิกฤติได้ดีนั้นมีลักษณะเฉพาะอันโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวรับสถานการณ์ การลงมือจัดการกับปัญหาในช่วงวิกฤติ และการผ่านพ้นจากสถานการณ์นั้นมาได้” McKinsey ระบุ
แม้ว่าโลกยังอยู่ห่างไกลจากการล่มสลายทางการเงินครั้งใหม่ แต่ปี 2019 ก็ยังนับได้ว่าท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหลายอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับนั้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความผันผวนซึ่งเกิดขึ้นจากข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ตลอดจนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกงที่ส่งผลต่อการบริโภคและการเดินทางของนักท่องเที่ยวมายังฮ่องกง จนทำให้ยอดขายเครื่องประดับในจีนและฮ่องกงลดลงค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอีกมากในสินค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเพชรก้อนซึ่งมียอดขายไม่ดีนักและเพชรเจียระไนซึ่งมีสินค้าในตลาดมากเกินไป ตลอดจนกฎระเบียบทางการเงินของจีนซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้การค้าพลอยสีไม่ราบรื่นเท่าที่ควร
ทว่ายังคงมีความหวังให้เห็นอยู่ ความต้องการเพชรก้อนเริ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2019 ตลาดสหรัฐแข็งแกร่งขึ้น และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ กิจการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับส่วนใหญ่ก็เตรียมวางมาตรการรับเหตุไม่คาดฝันและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในเศรษฐกิจมหภาคเอาไว้แล้ว
“บางครั้งการรับรู้ถึงอันตรายจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงลงได้ ถ้าคุณระมัดระวัง คุณจะมีเวลาให้ปรับเปลี่ยนและเตรียมพร้อมรับความท้าทาย วิธีนี้จะช่วยให้ธุรกิจรับมือกับสถานการณ์ได้ดี” Lawrence Ma ประธานของ Diamond Federation of Hong Kong, China Ltd (DFHK) กล่าว
แนวโน้มการค้า
Ernie Blom ประธานของ World Federation of Diamond Bourses (WFDB) กล่าวว่า แนวโน้มที่ดูมีความหวังปรากฏขึ้นในช่วงสองสามเดือนสุดท้ายของปี 2019 ซึ่งอาจส่งสัญญาณว่าแวดวงการค้าเพชรจะมีสถานการณ์ดีขึ้นในปีนี้
Blom ระบุว่า ความต้องการเพชรก้อนเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยหลังจากยอดขายร่วงลงมาตลอดหลายเดือนในปี 2019 เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องรับมือกับเพชรเจียระไนที่เกินความต้องการ ผู้ผลิตลดการซื้อเพชรก้อนในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา เพื่อให้ธุรกิจเครื่องประดับรับเอาเพชรเจียระไนซึ่งตกค้างอยู่ไปก่อน
คาดกันว่าผู้ค้าจะเติมเพชรก้อนและเพชรเจียระไนเข้าคลังเอาไว้เตรียมรับเทศกาลต่างๆ นอกเหนือจากการสั่งสินค้าเข้าคลังในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ตามปกติ
ตลาดสหรัฐก็มีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์ของอุตสาหกรรมนี้ในปี 2020 โดยมองกันว่าการเลือกตั้งของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2020 น่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น “เราน่าจะได้เห็นระดับความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นในสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่สุดในโลกและสร้างยอดขายเครื่องประดับคิดเป็นร้อยละ 50 ของยอดขายทั่วโลก” Blom กล่าว
Ma จาก DFHK ก็มีมุมมอง “ค่อนข้างบวก” ต่อแนวโน้มธุรกิจในปีนี้ แม้ว่าปี 2019 เป็นปีที่ยากลำบาก อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงต่ำอยู่จึงมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ซบเซา และช่วยรักษาระดับราคาทรัพย์สินให้คงตัว กิจการต่างๆ ล้วนกำลังวางมาตรการเพื่อความปลอดภัยและลดปริมาณสินค้าลง
ผู้ผลิตส่วนใหญ่ซึ่งปรับปริมาณสินค้าคงคลังตามความต้องการในปัจจุบันอาจรักษาระดับสินค้าให้ต่ำเอาไว้จนกว่าตลาดจะฟื้นตัว “ผู้ผลิตอาจซื้อเพิ่มได้ถ้าราคาลดลง ถ้าความต้องการต่ำ ผู้ผลิตก็ยินดีคงขนาดคลังสินค้าให้เล็กไว้ก่อน” Ma กล่าวต่อ
Ma กล่าวเสริมว่า นอกจากสหรัฐจะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมนี้ ตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียก็อาจกระตุ้นความต้องการได้เมื่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศนี้กระเตื้องขึ้น ขณะเดียวกันคนกลุ่ม Millennial และ Generation Z ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างการเติบโตให้ผู้ขายเครื่องประดับ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 และยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลงเมื่อใด ได้ส่งผลกระทบไม่น้อยต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลกในขณะนี้ ธุรกิจค้าปลีกในหลายประเทศโดยเฉพาะจีน ฮ่องกง และมาเก๊าต้องปิดร้านสาขาจำนวนมาก อาทิเช่น Chow Tai Fook, Pandora และกลุ่มเครือบริษัท LVMH ซึ่งทั้งบริษัท Pandora และกลุ่มเครือบริษัท LVMH ต้องปิดร้านสาขาในจีนจำนวนมาก ต่างแสดงความเห็นตรงกันว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาทางบริษัทมีกำไรเติบโตอยู่ที่เลขสองหลัก แม้การระบาดของโรค Covid-19 จะมีผลกระทบต่อรายได้การเติบโตของบริษัท ซึ่งทำให้ยอดขายลดลงอย่างชัดเจน แต่ก็เชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและยอดขายจะกลับมาดีดังเดิมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หากสถานการณ์ระบาดสามารถจบลงได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคม หรือไม่ระบาดยาวนานถึง 2 ปี
การเงินและเพชรที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการ
ประเด็นบางข้อในธุรกิจเพชรน่าจะยังมีความสำคัญต่อผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ตลอดปี 2020 ทั้งนี้รวมถึงประเด็นด้านการเงินและเพชรสังเคราะห์
ตามข้อมูลจาก Blom สินเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเพชรมีแนวโน้มลดลงจาก 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2013 เป็น 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงสองปีข้างหน้า อันเนื่องมาจากปัญหาสภาพคล่องในธุรกิจนี้ ดังนั้น การเติบโตของผลิตภัณฑ์ทางเลือกด้านการเงินที่ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จึงนับเป็นพัฒนาการที่น่ายินดี
ในปี 2020 การผลิตเพชรจากห้องปฏิบัติการจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 2 - 4 ของสินค้าเพชรทั่วโลก เพชรชนิดนี้จะเป็นที่ต้องการสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่น Millennial อย่างไรก็ดี ราคาเพชรสังเคราะห์จะลดต่ำลงอีกเมื่อปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
ธุรกิจนี้ยังต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากการนำเพชรสังเคราะห์มาปลอมปนกับเพชรธรรมชาติ ตลอดจนการนำเพชรที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการมาปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีการที่ซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม Blom ระบุว่า ประเด็นเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2020 แต่เครื่องมือตรวจจับเพชรรุ่นใหม่ก็ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว
แนวโน้มของพลอยสี
ธุรกิจพลอยสีชะลอตัวลงในปี 2019 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญของสินค้ากลุ่มนี้มีความต้องการลดต่ำลง
Clement Sabbagh ประธานของ International Colored Gemstone Association (ICA) กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือกฎระเบียบทางการเงินสำหรับผู้ถือสัญชาติจีนในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในฮ่องกง สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นจากเหตุประท้วงในฮ่องกงที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางธุรกิจ นอกจากนี้ ธุรกิจพลอยสียังได้รับความกระทบกระเทือนในยุโรปเนื่องจากประเด็น Brexit ด้วย
ทว่าสินค้าคุณภาพสูงยังคงเป็นที่ต้องการ ในขณะที่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดสหรัฐอันเนื่องมาจากความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์และตลาดหลักทรัพย์ที่เติบโตได้เรียกความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมกลับคืนมา
อัญมณีที่ทำผลงานสูงสุดในปี 2019 ได้แก่ สปิเนลสีแดง สีน้ำเงินโคบอลต์ และสีเทา อะความารีน โอปอ และพาราอิบา ทัวร์มาลีน ในขณะที่แซปไฟร์สีเขียวพาสเทล สีเหลือง สีชมพู และสีน้ำเงินก็ทำผลงานได้ดีเช่นเดียวกับแทนซาไนต์สีอ่อน มรกตยังคงติดอันดับเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการอยู่เสมอ ส่วนทับทิมโมซัมบิกก็ยังคงได้รับความสนใจ
อัญมณีเหล่านี้มีแนวโน้มจะทำผลงานได้ดีในปี 2020 จีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ตามมาด้วยตะวันออกกลางและสหรัฐ
อุตสาหกรรมอัญมณีจะยังคงส่งเสริมการจัดหาอัญมณีอย่างถูกต้อง ความโปร่งใส การให้ความรู้ ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานในการจัดระดับคุณภาพอัญมณี แนวทางการปฏิบัติงาน และการเรียกชื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
“ความตึงเครียดทางการเมือง เทคโนโลยีที่สั่นสะเทือนวงการ และทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคอาจส่งผลต่อธุรกิจนี้ในระยะสั้น” Sabbagh กล่าว “หากเราสามารถให้ความรู้แก่ผู้บริโภคปลายทางเกี่ยวกับความหายากของพลอยสี กำหนดคำบรรยายที่สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อระบุสีและความใสของพลอย ให้ข้อมูลที่โปร่งใส และนำเสนอเรื่องราวที่ดึงดูดใจ ธุรกิจนี้ก็ยังมีศักยภาพสูงในการเติบโต”
ความต้องการคงตัว
Yoshihiro Shimizu ประธานของ Japan Pearl Exporters Association (JPEA) กล่าวว่า กำลังซื้อที่ลดลงของผู้ซื้อชาวจีนอันเป็นผลจากความตกต่ำของเศรษฐกิจมหภาคส่งผลต่อความต้องการไข่มุกในปี 2019 แต่สินค้าคุณภาพดีก็ยังคงขายได้ นอกจากนี้การประท้วงในฮ่องกงยังคงส่งผลกระทบต่อยอดขาย
Shimizu ระบุว่า ผู้ซื้อหันไปสนใจไข่มุกเซาธ์ซีสีขาวและไข่มุกตาฮีติคุณภาพดีซึ่งมีปริมาณขาดแคลน ความต้องการไข่มุกเหล่านี้ยังมีอยู่ต่อเนื่องหรือยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในปี 2020
ราคาเฉลี่ยต่อมอมมี (momme –หน่วยน้ำหนักของญี่ปุ่น 1 มอมมีเท่ากับ 3.75 กรัม) ของไข่มุกตาฮีติขึ้นไปอยู่ที่ 23 เหรียญสหรัฐในปี 2018 ลดลงจากราว 28 เหรียญสหรัฐเมื่อห้าปีก่อน Shimizu เผยว่า ราคาปัจจุบันนั้นต่ำเกินกว่าที่ผู้ทำฟาร์มจะอยู่รอดได้ พร้อมเสริมว่ากิจการประสบปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพภายใต้ระดับราคาที่จำกัด
“การผลิตไข่มุกขนาดเล็กนั้นราคาถูกกว่า ไข่มุกตาฮีติคุณภาพดีพบเห็นได้น้อยในตลาดแม้กระทั่งในงานประมูลใหญ่อย่าง Rikitea” เขาเสริม
ปัจจุบันไข่มุกเซาท์ซีสีขาวจากออสเตรเลียมีราคาประมูลอยู่ที่ราว 110 เหรียญสหรัฐต่อมอมมี ขณะที่ไข่มุกอินโดนีเซียคุณภาพทั่วไปมีราคา 45 ถึง 50 เหรียญสหรัฐต่อมอมมี
ผู้ซื้อที่คำนึงถึงราคามักเลือกไข่มุกร่วงเกรดทั่วไปขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 ถึง 11 มม. เนื่องจากไข่มุกคุณภาพดีนั้นหายาก ระดับราคาคงที่เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อแบบจริงจังยังคงมีความต้องการอย่างสม่ำเสมอ
Shimizu ระบุว่า แม้กำลังซื้อจะลดลง แต่กิจการในจีนยังคงสั่งสินค้าเข้ามาเพิ่มในคลัง ถึงจะสั่งในอัตราที่ช้าลงก็ตาม เขาเสริมว่าแนวโน้มนี้น่าจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าสถานการณ์ในฮ่องกงจะคลี่คลาย
ตลาดที่มีความหวัง
Kent Wong กรรมการผู้จัดการของ Chow Tai Fook Jewellery Group Ltd. ให้ความเห็นว่า ผู้ขายเครื่องประดับยังคงพึ่งตลาดจีนในแง่การเติบโต เนื่องจากตลาดฮ่องกงและมาเก๊ายังคงมีความท้าทายอยู่ในระยะอันใกล้นี้
“กลยุทธ์ของ Chow Tai-Fook ที่เน้นการเจาะตลาดเมืองชั้นรองและเมืองระดับเทศมณฑลในจีนจะช่วยให้บริษัทของเรายังคงเติบโตต่อไปได้” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าพื้นที่เหล่านี้กำลังช่วยขับเคลื่อนการบริโภคในจีนให้เติบโต เนื่องจากประชากรมีรายได้สุทธิเพิ่มสูงขึ้น โดยความต้องการสินค้าหรูหราในเมืองเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้
“เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมเครื่องประดับจะรวมตัวกันเพื่อเอาชนะความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าและมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” Wong กล่าว “ความสามารถในการรับมือกับวิกฤตินั้นหมายถึงการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการที่ซับซ้อนและแยกย่อยมากขึ้น ผู้ขายเครื่องประดับก็จำเป็นต้องสร้างประสบการณ์ในการซื้อให้สอดคล้องกับว่าที่ลูกค้ายิ่งกว่าที่เคยเป็นมา”
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
--------------------------------------------------------------
ที่มา: “2020: A ray of hope for the jewellery trade.” by Bernardette Sto. Domingo. JNA. (January-February 2020: pp. 18-21).