แนวทางปฏิบัติสำหรับบริษัทรองเท้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจสหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปีที่ผ่านมาเป็นข้อตกลงทางการค้าที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพและครอบคลุมในหลากหลายมิติ นับเป็นข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่สหภาพยุโรปเคยเจรจามา
สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ดี ข้อมูลจากสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) รายงานว่า ในปี พ.ศ.2561 ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญอันดับที่ 6 ของสหภาพยุโรป และเป็นตลาดนำเข้าสินค้าที่สำคัญอันดับที่ 7 ของสหภาพยุโรป ในขณะที่สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 3 ของญี่ปุ่น (รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน) ในปี พ.ศ.2559 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าสินค้าและบริการ 85 พันล้านยูโร
นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญอันดับ 2 ของญี่ปุ่นรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 25 ของหุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2559
สรุปสาระสำคัญของข้อตกลง มีดังนี้
• การยกเลิกการจัดเก็บภาษีที่เป็นอุปสรรคทางการค้า และสร้างแพลตฟอร์มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุปสรรคในการค้า
• เดินหน้าเพื่อปฏิรูปกฎระเบียบการค้าตามแนวทางขององค์การการค้าโลก
• เป็นการส่งสัญญาณว่าสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ปฏิเสธการกีดกันทางการค้า
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ เมื่อดำเนินการเจรจาเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว 99% ของภาษีศุลกากรของสินค้าส่งออกจากสหภาพยุโรปไปยังประเทศญี่ปุ่น (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านยูโร) จะถูกยกเลิก และญี่ปุ่นจะดำเนินการยกเลิกอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปจำนวน 97% ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวยังช่วยขจัดและลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน เช่น การรับรองมาตรฐานสากลของรถยนต์ นอกจากนี้ยังทำลายอุปสรรคของผู้ส่งออกอาหารและเครื่องดื่มในสหภาพยุโรปในการส่งออกไปยังผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจำนวน 127 ล้านคน และเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกอีกด้วย สหภาพยุโรปประมาณการว่ามูลค่าการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นประมาณ 36 พันล้านยูโร หากดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรีฉบับสมบูรณ์ นอกจากนี้สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะกำหนดมาตรฐานในการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมถึงข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในความตกลงปารีส ข้อตกลงการค้าเสรียังส่งเสริมการตลาดบริการ เช่น บริการด้านการเงิน อีคอมเมิร์ซ การสื่อสารโทรคมนาคม และการขนส่ง
อุตสาหกรรมรองเท้า
ข้อตกลงการค้าเสรีนี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้บริษัททั้งในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้รับผลประโยชน์จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับลดหรือยกเลิกการจัดเก็บอัตราภาษีศุลกากร
ก่อนที่จะมีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้าของสหภาพยุโรปถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรมากถึง 174 ล้านยูโร เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองในประเทศญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้ตั้งกำแพงภาษีไว้สูงถึงร้อยละ 30
ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว อัตราภาษีที่ญี่ปุ่นเรียกเก็บจากผลิตภัณฑ์รองเท้าที่มีถิ่นกำเนิดในสหภาพยุโรปจะถูกยกเลิกในปีถัดไป ภาษีศุลกากรสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เช่น กระเป๋าถือ จะถูกยกเลิกการจัดเก็บเป็นระยะเวลา 10 ปี และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครองโดยตั้งกำแพงภาษีไว้สูงถึงร้อยละ 27 เช่น รองเท้ากีฬาและรองเท้าสกี ก็จะถูกยกเลิกการจัดเก็บเช่นเดียวกัน ในทางตรงกันข้ามเมื่อข้อตกลงการค้าเสรีมีผลบังคับใช้จะทำให้ระบบโควต้าการส่งออกรองเท้าของสหภาพยุโรปสิ้นสุด ส่งผลกระทบต่อกำไรของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์หนัง
ในอีกด้านหนึ่งญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์จากการยกเลิกอัตราภาษีศุลกากรในผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น รองเท้าหนัง เป็นต้น อัตราภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากรองเท้าของสหภาพยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 17 จะถูกยกเลิกเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี
ที่มา : World Footwear: “EU-Japan EPA: a practical guide for footwear companies”, January 21, 2020
เรียบเรียงโดย : อิสเรศ วงศ์เสถียรโสภณ (ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ)