หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-ธันวาคม 2562

สถานการณ์นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-ธันวาคม 2562

กลับหน้าหลัก
21.02.2563 | จำนวนผู้เข้าชม 1483

สถานการณ์นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-ธันวาคม 2562

ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.91 (ร้อยละ 26.63 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 15,689.18 ล้านเหรียญสหรัฐ (486,159.16 ล้านบาท) ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 23.07 (ร้อยละ 25.90 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 12,154.82 ล้านเหรียญสหรัฐ (381,347.66 ล้านบาท) ซึ่งไทยเกินดุลการค้า 3,534.36 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าหลักทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้า 

สถานการณ์การนำเข้า

การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2562 มีมูลค่า 12,154.82 ล้านเหรียญสหรัฐ (381,347.66 ล้านบาท) ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 23.07 โดยสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าสูงสุดในปี 2562 คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ด้วยสัดส่วนร้อยละ 57.29 หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 38.58 อันเนื่องมาจากราคาทองคำฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการนำเข้าทองคำ สินค้านำเข้ารองลงมาเป็น เพชร หดตัวลงร้อยละ 6.61 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพชรเจียระไนที่ลดลงร้อยละ 2.31 รวมถึงเพชรก้อนก็มีมูลค่านำเข้าลดลง

ร้อยละ 29.61 ส่วน เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้านำเข้าในลำดับที่ 3 เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 39.68 โดยส่วนมากเป็นการนำเข้าเครื่องประดับทองด้วยมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.48 และเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้านำเข้ารองลงมาเพิ่มขึ้น

ร้อยละ 14.06 สินค้านำเข้าอันดับ 4 คือ พลอยสี ขยายตัวได้ร้อยละ 16.14 โดยสินค้านำเข้าหลักเป็นพลอยเนื้อแข็ง-เจียระไนเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 15.19 รองลงมาคือพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนขยายตัวร้อยละ 8.59 สำหรับสินค้านำเข้าอันดับ 5 เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเศษโลหะมีค่า เพิ่มขึ้นสูงกว่า 33.46 เท่า ทั้งนี้ สินค้านำเข้าเกือบร้อยละ 90 อยู่ในหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ

สถานการณ์การส่งออก

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.91 (ร้อยละ 26.63 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 15,689.18 ล้านเหรียญสหรัฐ (486,159.16 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.37 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 8,095.65 ล้านเหรียญสหรัฐ (250,603.19 ล้านบาท) เติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.34 (ร้อยละ 2.70 ในหน่วยของเงินบาท)

ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2561 และ 2562

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า

1) สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 ส่วนเครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลงร้อยละ 16.24 และร้อยละ 5.62 ตามลำดับ

2) สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพชรเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 8.99 ส่วนพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.75 และร้อยละ 10.72 ตามลำดับ

ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ปี 2562 ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด คือ ฮ่องกง ลดลงร้อยละ 4.60 ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ที่ทำให้จีนซึ่งเป็นตลาดหลักส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของฮ่องกงชะลอการนำเข้าจากฮ่องกงลง ประกอบกับการประท้วงที่ยืดเยื้อและรุนแรงกินเวลาหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าไปยังฮ่องกงลดลง ร้านค้าปลีกจึงปิดตัวลงหลายแห่ง มีผลทำให้ผู้นำเข้าฮ่องกงลดการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากหลายประเทศรวมถึงไทยลง

มูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 1.02 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังเยอรมนี ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดได้ลดลงร้อยละ 21.80 ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ซบเซา จากผลกระทบของสงครามการค้าโลก ทำให้ไทยส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักไปยังตลาดนี้ได้ลดลง อีกทั้งไทยยังส่งออกไปยังเบลเยียม ตลาดในอันดับ 2 ได้ลดลงร้อยละ 6.20 โดยสินค้าส่งออกหลักเป็นเพชรเจียระไนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.46 ส่วนการส่งออกไปยังอิตาลี และสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 3 และ 4 ขยายตัวได้สูงกว่า 1.09 เท่า และร้อยละ 11.70 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังอิตาลีและสหราชอาณาจักรเป็นเครื่องประดับทอง ที่เติบโตได้เป็นอย่างดี

การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาหดตัวลงร้อยละ 6.31 ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และกระทบต่อร้านค้าปลีกซึ่งรวมถึงร้านอัญมณีและเครื่องประดับให้ปิดตัวลง ซึ่งในปี 2562 ร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ ประกาศปิดตัวกว่า 9,300 แห่ง สูงขึ้นถึงร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2562 ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 ที่บริษัท Coresight Research ได้บันทึกข้อมูลไว้ จึงอาจทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยลง

สำหรับตลาดสำคัญอื่นๆ ที่ขยายตัวได้ ได้แก่ อินเดีย อาเซียน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยการส่งออกไปยังอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.79 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของอินเดียที่ยังเติบโตดี โดยในปี 2562 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวร้อยละ 6.1 ทำให้ชาวอินเดียมีความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น มีผลให้ไทยส่งออกสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบไปยังตลาดนี้ได้เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ เพชรเจียระไน พลอยก้อน พลอยเนื้ออ่อน-เจียระไน และโลหะเงิน 

มูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนเติบโตสูงกว่า 1.77 เท่า เนื่องจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 83 และกัมพูชา ตลาดในอันดับ 2 ได้เพิ่มสูงกว่า 2.58 เท่า และ 2.17 เท่า ตามลำดับ โดยสินค้าหลักส่งออกไปยังสิงคโปร์เป็นเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเศษโลหะมีค่า เพื่อหลอมเศษทองคำเป็นทองคำแท่งและนำไปจำหน่ายในตลาดต่างๆ ส่วนสินค้าหลักส่งออกไปยังกัมพูชาเป็นเครื่องประดับทองและเพชรเจียระไน ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกไปยังเวียดนาม ตลาดในอันดับ 4 ได้สูงขึ้นถึงร้อยละ 54.60 โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังตลาดนี้ต่างมีมูลค่าสูงขึ้นคือ อัญมณีสังเคราะห์ โลหะเงิน และเครื่องประดับทอง ในขณะที่การส่งออกไปยังมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับ 3 หดตัวลงร้อยละ 5.05 จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน และสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนได้ลดน้อยลง

ส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.19 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดหลักอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคนี้ได้สูงขึ้นร้อยละ 4.39 แม้ว่าสินค้าหลักส่งออกอย่างเครื่องประดับทองจะลดลง เนื่องจากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งการเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 5 ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองของชาวยูเออีลดลง แต่การส่งออกเพชรเจียระไน สินค้ารองลงมาเติบโตสูงกว่า 1.04 เท่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ดูไบเป็นศูนย์กลางค้าเพชร โดยรัฐบาลยังมีนโยบายการค้าเสรี และไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อขายเพชรแบบขายส่งในเมืองนี้ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ/ผู้ค้าจากทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก จึงทำให้มีความต้องการนำเข้าเพชรเจียระไนไปจำหน่ายในตลาดมากขึ้น อีกทั้งไทยยังส่งออกไปยังกาตาร์ ตลาดในดับ 3 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.26 โดยสินค้าหลักส่งออกไปยังตลาดนี้เป็นเครื่องประดับทอง ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 31.19 ส่วนการส่งออกไปยังอิสราเอล ตลาดในอันดับ 2 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.90 เนื่องจากสินค้าหลักส่งออกทั้งเพชรเจียระไนและเพชรก้อนได้ลดลง อย่างไรก็ดี ตลาดอื่นที่ไทยควรเร่งรุกตลาดเพราะมีแนวโน้มเติบโตดี คือ คูเวต และโอมาน ซึ่งสินค้าส่งออกหลักไปยังทั้งสองตลาดดังกล่าวเป็นเครื่องประดับทองที่มีอัตราการขยายตัวสูงมาก

ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาด/ภูมิภาคต่างๆ ในระหว่างปี 2561 – 2562

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


 *** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2562, ม.ค.-ธ.ค., สะสม 12 เดือน