ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2560 ไทยจะสามารถส่งออกสิ่งทอ (ไม่รวมเครื่องนุ่งห่ม) ไปยังตลาดโลกได้ไม่ต่ำกว่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.0 (YoY) และในปี 2561 ก็คาดว่าน่าจะยังคงรักษาการเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ที่ร้อยละ 3.0-7.0 โดยสินค้าหลักยังเป็นกลุ่มผ้าผืนและเส้นใยประดิษฐ์ ที่ความต้องการในตลาดปลายทาง ยังคงเติบโตสูงจากการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในอาเซียนอย่าง กลุ่ม CLMV+I แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การขยายตัวของการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอของไทยในระยะกลางและระยะยาวจะขึ้นอยู่กับการยกระดับ (Upgrade) การผลิตสิ่งทอที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งทอเทคนิค (Functional/ Technical Textile) เป็นกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพสำหรับการเติบโตในระยะยาว แม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่พลวัตที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาด จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคได้รับความสนใจ โดยเฉพาะการผลิตเพื่อสนับสนุนธุรกิจปลายน้ำที่ให้มูลค่าเพิ่มสูงกว่าเครื่องนุ่งห่ม อาทิ ยานยนต์ การแพทย์ การก่อสร้าง งานปกป้อง การเกษตร สิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ การกีฬา ที่พักอาศัย อุตสาหกรรมและธรณีวิทยา ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะมีความต้องการสิ่งทอในเชิงนวัตกรรมเพื่อใช้ภายในกระบวนการผลิตในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น
แม้ในประเทศไทยจะมีห่วงโซ่การผลิตสิ่งทอที่แข็งแกร่ง ทำให้ในปัจจุบันนั้นไทยมีความสามารถผลิตสิ่งทอเทคนิคภายในประเทศได้ แต่การผลิตสิ่งทอเทคนิคของไทยยังต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำบางตัวจากต่างประเทศ เข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมในการผลิต และจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตและความพร้อมด้านเงินลงทุนในเครื่องจักรต่างๆ ในระดับสูง นอกจากนี้ โครงสร้างการผลิตในธุรกิจปลายน้ำที่ใช้สิ่งทอเทคนิคในการผลิตนั้น ก็ยังมีความแตกต่างและหลากหลายในแต่ละผลิตภัณฑ์ อีกทั้งการจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนต้นน้ำและกลางน้ำในสายการผลิตปลายน้ำของแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ ค่ายรถยนต์ ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิต ระดับต้นทุน กฎแหล่งกำเนิดสินค้าและโดยเฉพาะนโยบายของบริษัทแม่ในระดับโลก
ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการที่ผลิตสิ่งทอดั้งเดิมจะยกระดับการผลิตของตนมาเป็นการผลิตสิ่งทอเทคนิค หรือผู้ผลิตสิ่งทอเทคนิคสำหรับสายการผลิตของอุตสาหกรรมหนึ่งจะข้ามมาผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์สายการผลิตของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันออกไป แม้หากทำได้จะเป็นโอกาสทางการตลาดที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและผลกำไรที่มากขึ้นให้กับธุรกิจได้ แต่ก็นับว่าไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะมีปัจจัยท้าทายและขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไขดังกล่าว
ที่มา: บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
https://aecplusadvisory.askkbank.com/TH/Thailand/FlashNews/Pages/Thailand_news_20170904_1.aspx