"ผ้าภูอัคนี"ของดีจากดินภูเขาไฟ
กล่าวสำหรับ จ.บุรีรัมย์ มีตำนานเล่าขานมากมาย แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกสิ่งหนึ่งนั้นก็คือ “ผ้าฝ้าย”ที่มีสีและการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่คงความเป็นอัตลักษณ์ของเมือง ผ้าฝ้ายที่จังหวัดแห่งนี้มีแหล่งผลิตหลายที่ แต่ที่น่าสนใจคือผ้าฝ้ายจากหมู่บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อีกทั้งยังตั้งเป็นกลุ่มอาชีพทอผ้าไหม–ผ้าฝ้าย เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
พิมพ์อัปสร เมืองประทุม สมาชิกกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหม–ผ้าฝ้าย จังหวัดบุรีรัมย์ย้อนอดีตให้ฟังว่าก่อนการริเริ่มทำผ้าทอ ชาวบ้านก็ได้เข้าไปในป่าเพื่อหาของป่าตามปกติ แต่ในช่วงนั้นเป็นฤดูฝนทำให้พื้นที่ภายในป่ามีความชื้นและดินโคลนภายในป่าค่อนข้างลื่นและชันมาก ในระหว่างที่ชาวบ้านกำลังหา ของป่าก็ได้ลื่นล้มทำให้ดินโคลนภายในป่าเปื้อนเสื้อผ้า และเมื่อกลับมาบ้านก็ได้นำเสื้อที่เปื้อนดินโคลนไปทำความสะอาด แตทำอย่างไรผ้าก็ยังมีสีของดินติดอยู่ และในระหว่างนั้นนายอำเภอของจังหวัดบุรีรัมย์ที่เพิ่งย้ายมาประจำการก็ได้มาขอให้คนในชุมชนบ้านเจริญสุขจัดทำผ้าฝ้ายทอมือที่มีลักษณะไม่เหมือนกับที่อื่นเพราะในหมู่บ้านเจริญสุขเป็นหมู่บ้านที่ทอผ้าอยู่แล้วเพื่อใช้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์และเพื่อให้ข้าราชการได้สวมใส่และเป็นอัตลักษณ์ให้ทุกอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์
"ระหว่างนั้นชาวบ้านจึงนึกได้ว่าเมื่อวันก่อนได้เข้าไปในป่าและมีสีของดินโคลนติดเสื้อซึ่งเป็นสีที่แปลกและไม่เคยเห็นมาก่อนจึงได้ไปดูพบว่าสีดินโคลนดังกล่าวยังคงติดเสื้ออยู่ทั้ง ๆ ที่ทำความสะอาดแล้วสีดังกล่าวก็ยังคงติดอยู่ จากนั้นจึงจุดประกายแนวคิดด้วยการนำสีของดินที่เชื่อว่าเป็นดินภูเขาไฟที่อยู่บนเขาพระอังคาร ที่เป็นตำนานว่าเป็น 1 ใน 6 ภูเขาไฟของจังหวัดบุรีรัมย์ ดินบริเวณนี้จึงอุดมด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟที่ปะทุออกมาในอดีต จากนั้นได้นำมาสร้างเป็นผ้าทอที่มีสีสันงดงามและไม่เหมือนกับที่อื่นจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผ้าทออัคนี” ที่ได้รับผลตอบรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ"
เธอเล่าต่อว่าหลังจากค้นพบความอัศจรรย์ของดินภูเขาไฟแล้ว จึงได้นำดินดังกล่าวมาใช้ในการย้อมผ้าและ มีการผสมผสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้สีของผ้ามีความงดงามมากขึ้น โดยการนำเปลือกของต้นประดู่มาผสมกับดินเพื่อให้มีสีที่เข้มขึ้นและมีความคงทนสวมใส่แล้วจะทำให้สัมผัสได้ถึงความนุ่มของผ้าที่สวมใส่แล้วสบายตัวและไม่มีที่ไหนเหมือนด้วยวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ จนกลายเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อและเอกลักษณ์ด้านสิ่งทอที่มีชื่อว่า“ผ้าทออัคนี”ที่ผ่านการผสมผสานจากผ้าฝ้ายสีขาว เปลี่ยนเป็นสีดินน้ำตาลอ่อนกับน้ำตาลแดงแบบดินภูเขาไฟ
ส่วนขั้นตอนการย้อมเริ่มต้นจากการนำดินภูเขาไฟใกล้ๆ กับเขาพระอังคารมาและนำมาคัดเศษผงที่ เจือปนออก หลักจากนั้นก็นำไป ผสมกับน้ำในอัตราส่วน ดินภูเขาไฟ 3 กิโลกรัมต่อ น้ำเปล่า 10 ลิตร ก็จะได้น้ำดินภูเขาไฟที่มีสีน้ำตาล สำหรับขั้นตอนนี้หากอยากได้ผ้าสีเข้มก็ผสมน้ำให้น้อยลง หากอยากได้สีอ่อน ก็ผสมน้ำให้มากขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือ ขั้นตอนการย้อมสีผ้า โดยจะนำผ้าฝ้าย หรือผ้าไหมที่ต้องการย้อมสีและจะใช้ผ้าน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ในการย้อมแต่ละครั้ง นำผ้าลงไปแช่ในน้ำดินภูเขาไฟที่เตรียมไว้ โดยจะใช้เวลาในการแช่ผ้าทิ้งไว้ประมาณ 8-10 ชั่วโมง ก็จะได้ผ้าสีน้ำตาลเย็นตา สีสันสวยงามตามที่ต้องการ หลังจากนั้นก็จะนำผ้าที่ได้ไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปตากที่ราวและยืดให้ตรง ก็จะได้ผ้าตามต้องการ
นอกจากนั้นที่หมู่บ้านเจริญสุขแห่งนี้ ก็ยังมีภูมิปัญญาที่จะรักษาสีผ้าให้คงทนด้วยเช่นกัน นั่นคือการนำผ้าที่ได้จากการย้อมดินภูเขาไฟไปต้มกับ“น้ำเปลือกต้นประดู่”ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการนำวัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ขั้นตอนการนำผ้าเเช่น้ำเปลือกประดู่ต้มนั้น ซึ่งพิมพ์อัปสรให้ฟังอีกว่า
“นำเปลือกต้นประดู่มาต้มในน้ำซึ่งน้ำต้มจะต้องร้อนแต่ไม่ให้เดือดจนเกินไป หลังจากนั้นนำผ้าที่ต้องการย้อมลงไปแช่ประมาณครึ่งชั่วโมง ขั้นตอนนี้จะเป็นการป้องกันการตกสี อีกทั้งในน้ำเปลือกต้นประดู่ก็ยังมียางและสีที่คล้ายกับสีดินภูเขาไฟจึงเป็นการเคลือบสีลงไปในตัวผ้า เนื้อผ้าที่ได้จึงเงางามยิ่งขึ้นและไม่ตกสีนั้นเอง”
“ผ้าทออัคนี”หรือ“ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ” เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีความมหัศจรรย์ที่เกิดจากธรรมชาติและความบังเอิญหลายๆ อย่างที่มีสีสันที่งดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อในจังหวัดบุรีรัมย์ และสามารถซื้อกลับไปเป็นของฝากได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการนำไปแปรรูปในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เป็นต้น โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่า ภูเขาไฟอังคารมีลักษณะรูปร่างคล้ายพญาครุฑนอนคว่ำหน้า อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของวัดเขาอังคาร ดังนั้นการนำดินที่มาใช้ในกระบวนการผลิตจึงมีความเชื่อเกี่ยวกับผู้สวมใส่ว่าเมื่อใส่แล้วจะทำให้มีสิริมงคลในชีวิต
ปัจจุบันกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหม–ผ้าฝ้าย จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ผ่านการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรมและยังได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OVC หรือ OTOP Village Champion ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหหาดไทย โดยทางกลุ่มของชาวบ้านเจริญสุขได้มีการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่แปลกใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือยุค 4.0 ในปัจจุบันให้มีความทันสมัยและเหมาะกับการนำไปใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังมีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั้งญี่ปุ่น อิตาลี อังกฤษ เพื่อนำไปเผยแผ่ความมหัศจรรย์จากธรรมชาติของไทยเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่รู้จักไปทั่วโลกอีกด้วย
นอกจากนี้กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหม–ผ้าฝ้าย ในหมู่บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ยังเปิดโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวหรือบุคคลที่สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมเกี่ยวกับวิถีชีวิตและขั้นตอนในการรังสรรค์สิ่งมหัศจจรย์ของการทำผ้าทออัคนี หรือ ผ้าย้อมดินภูเขาไฟในทุกขั้นตอน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและการอนุรักษ์เรื่องราวที่มีคุณค่าอีกอย่างหนึ่งของไทยให้คงอยู่และยั่งยืนสืบต่อไป
ส่วนผู้ที่สนใจแวะชม ผ้าภูอัคนีหรือดูกรรมวิธีการผลิตสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มสตรีทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย หมู่บ้านเจริญสุข สอบถามเพิ่มเติม โทร. 08-9526-6071, 08-5632-7629 ทุกวันไม่เว้นวันหยุด
ที่มา : https://www.komchadluek.net/news/agricultural/407581