หน้าแรก / THTI Insight / ข่าวรายวัน / กระเป๋ากาบกล้วยนวัตกรรมรักษ์โลกบ้านช่างสกุลบายศรี​

กระเป๋ากาบกล้วยนวัตกรรมรักษ์โลกบ้านช่างสกุลบายศรี​

กลับหน้าหลัก
11.10.2562 | จำนวนผู้เข้าชม 5261

กระเป๋ากาบกล้วยนวัตกรรมรักษ์โลกบ้านช่างสกุลบายศรี​

กระเป๋ากาบกล้วยนวัตกรรมรักษ์โลกบ้านช่างสกุลบายศรี​ วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นำต้นกล้วยมารังสรรค์สร้างนวัตกรรมผ่านความร้อนธรรมชาติ ภายใต้แบรนด์ตานี เป็นกระเป๋าแฟชั่นสวยงาม ส่งเข้าประกวดแข่งขันระดับประเทศได้รับรางวัลชนะเลิศ KBO กรมพัฒนาชุมชน ขณะนี้มีออเดอร์สั่ง ผลิตไม่ทันกับยอดจองทั้งในและต่างประเทศ

ต้นกล้วยที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่น ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ต้นยันใบ ลำต้นนำไปทำเป็นเชือกกล้วยมัดสิ่งของดูเหนียวคงทนแข็งแรง ไส้ในที่เรียกว่า “หยวกกล้วย” ของลำต้น นำไปประกอบอาหาร กินได้ทั้งคนและสัตว์ ส่วนใบก็จะนำไปห่อขนม หรือ ทำบายศรีบูชาเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ หลังจากที่กล้วยให้ผลผลิตตัดเครือออกไปแล้ว ต้นกล้วยก็จะถูกตัดทิ้งให้เน่าสลายไปในร่องสวนโดยเปล่าประโยชน์


แต่สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรีแล้ว คิดต่างมุม นำต้นกล้วยน้ำว้า ต้นกล้วยตานี มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำส่วนของกาบมาผลิตเป็นกระเป๋าแฟชั่นได้อย่างสวยงาม อีกทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น หมวก เป้ กล่องใส่เอกสาร สมุดโน้ต โดยกลุ่ม ฯ ยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาต่อยอด นำกาบกล้วยมาสร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ตานี กระเป๋าแต่ละชิ้นจะมีรูปลักษณ์สวยงามแปลกตา ที่สำคัญใช้ได้นานหลายปีไม่เปียกน้ำ เสมือนเป็นการใช้กระเป๋าหนังอีกด้วย

ขั้นตอนการผลิต เมื่อได้ต้นกล้วยมาแล้ว จะตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร กล้วย 1 ต้นจะได้ 4 – 5 ท่อน อยู่ที่ความยาวของต้น จากนั้นแกะเอากาบออกเป็นชิ้น ใช้มีกรีดเปลือกนอนออกให้เหลือกาบในเป็นชิ้นบาง ๆ ก่อนจะนำไปตากแดดประมาณ 3 - 4 แดด เมื่อกาบแห้งได้ที่ จึงนำเอาไปรีดกับเตารีดไฟฟ้าให้เป็นแผนเรียบ เป็นผืนโดยเอากระดาษสารองติดทับกับกาบกล้วยกลายเป็นแผ่นเดียวกันตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นนำแผ่นที่ได้ไปเข้านวัตกรรมอัดรีดด้วยความร้อน เพื่อไล่ความชื้นออก จะได้แผ่นกาบกล้วยที่ไม่เปียกน้ำ และไม่ขึ้นรา หลังจากนั้นจึงนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ตามแบบที่ต้องการ โดยผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นล้วนแต่เกิดจากแรงบันดาลใจ ความใส่ใจ และจินตนาการใช้ธรรมชาติมาช่วยแต่งแต้มสีสันให้มีความงดงามในรูปแบบตามจินตนาการกลายเป็นอัตลักษณ์ของวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ที่ได้มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับ นิสิต นักศึกษาและผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ สามารถนำกลับไปพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน


นายธนากร สดใส อายุ 31 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี เปิดเผยว่า ได้รับรางวัลชนะเลิศ OTTOP KBO CONTEST 2019 การประกวดผลงานเครือข่ายองค์ความรู้ (KBO) จังหวัดดีเด่น ระดับประเทศ จากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562 สำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นอย่างกระเป๋าใบขนาดเล็ก จะมีความยากแตกต่างกับใบใหญ่ เพราะการไล่เฉดสีถ้าไม่เข้าใจสีที่ธรรมชาติให้มา กระเป๋าใบนั้นก็จะไม่มีมิติไม่มีความเป็นตัวตน อย่างต้นกล้วย 1 ต้น จะได้กระเป๋า 1 ใบ ให้เฉดสีที่แตกต่างกัน เอกลักษณ์จุดเด่นของกาบกล้วยตานี คือ 1 ต้น 1ใบ ไม่เหมือนใคร ส่วนความนิยมขณะนี้เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ของโลก หรือ งานรักษ์โลก ถือเป็นงานรีไซเคิลเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ของกลุ่มฯ และในสัมมาชีพที่เกี่ยวข้องของในหลวงรัชกาลที่ 9 ชิ้นงานกาบกล้วยเสมือนหนังมีแรงบันดาลใจ คือ จะไม่เบียดเบียนสัตว์ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และยังผนวกเข้ากับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

ส่วนเรื่องความคงทนของกระเป๋าเปรียบได้กับความคงทนเสมือนหนังที่เป็นงานธรรมชาติ แต่ไม่ได้เทียบเท่าของหนัง อายุการใช้งานประมาณ 5 ปีขึ้นไป แต่หากดูแลใส่ใจดีจะอยู่ได้ประมาณ 10 ปี ตามผลวิจัยนวัตกรรมกาบกล้วยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มฯได้ทำบายศรี พิธีกรรม และงานวัฒนธรรมต่างๆ และยังได้รับการคัดเลือกรับรางวัล วัฒนคุณาธร เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2562 จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการรกระทรวงวัฒนธรรม ถือเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ภายหลังจากที่ได้ทำเรื่องเกี่ยวข้องให้กับชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือ บวร บ้าน วัด โรงเรียน โดยการนำองค์ความรู้ต่างๆของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาช่วยสร้างสัมมาชีพให้กับประชาชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ทำให้ชุมชนเกิดรายได้ ชาวบ้านที่ว่างงานได้มีงานทำ และให้ทุกคนได้ตระหนักถึงต้นกล้วยสิ่งที่มองว่าไร้ค่า นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มกลายเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนเจ็ดเสมียน ภายใต้ แบรนด์ตานี ทำให้เกิดชิ้นงานที่มีลวดลายจากธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมาส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ราคาเริ่มตั้งตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท โดยเฉพาะตามหน่วยงานต่าง ๆ ตอนนี้ใกล้เทศกาลปีใหม่หลายคนกำลังมองหาของฝาก ของที่ระลึกทำให้ออเดอร์ที่สั่งเข้ามาขณะนี้จนทำแทบไม่ทัน


ต้นกล้วยที่มองว่าไร้ค่า กลายมาเป็นนวัตกรรมใหม่ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ที่นำแนวติดสร้างสรรค์ ออกแบบชิ้นงานได้อย่างลงตัว สวยงาม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นนวัตกรรมรักษ์โลกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาเรียนรู้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณธนากร สดใส โทร 099 – 1499746


ที่มา : https://siamrath.co.th/n/108205

ข่าวรายวัน, สิ่งทอ, กระเป๋า, กระเป๋ากาบกล้วย, กล้วย, หยวกกล้วย, นวัตกรรม