หน้าแรก / THTI Insight / ข่าวรายวัน / โมเดลธุรกิจกระเป๋า'borboleta'ใส่ใจรับผิดชอบสังคมแบบยั่งยืน

โมเดลธุรกิจกระเป๋า'borboleta'ใส่ใจรับผิดชอบสังคมแบบยั่งยืน

กลับหน้าหลัก
20.08.2562 | จำนวนผู้เข้าชม 447

โมเดลธุรกิจกระเป๋า'borboleta'ใส่ใจรับผิดชอบสังคมแบบยั่งยืน

คุณวโรณิกา จูน เรซ (หนูหวาน) กรรมการผู้จัดการ และดีไซเนอร์แบรนด์กระเป๋า Borboleta ภายใต้ชื่อบริษัท เธโซรา จำกัด เปิดเผยว่า "แบรนด์ Borboleta ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 มีแนวคิดกระเป๋าของแบรนด์ Borboleta ต้องมีความสวยงาม พร้อมใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ทำให้โลกรอบตัวดีขึ้น สภาพแวดล้อมต้องไม่ก่อมลภาวะ จึงได้คัดสรรวัสดุรักษ์โลกเป็นมิตรต่อโลก การดีไซน์กระเป๋าจึงสวยไม่เหมือนใคร สร้างจุดเด่นให้ลูกค้าที่ไม่ใช้ตามเทรนด์นัก เน้นวัสดุน้ำหนักเบา  สะพายง่าย แบรนด์จะมุ่งใช้วัสดุเป็นหนังวิทยาศาสตร์คุณภาพสูง (ไม่ใช่ PU) ทำให้ลูกค้าสวยได้โดยไม่ต้องทำร้ายสัตว์ ไว้ใจได้โดยช่างฝีมือคุณภาพที่มีความชำนาญ และได้ค่าตอบแทนสูงอย่างเป็นธรรม

กรรมการผู้จัดการฯ กล่าวต่อไปว่า ดำเนินธุรกิจกว่า 7 ปี จนถึงปัจจุบันได้ขยายตลาดด้วยการส่งออกจำหน่ายไปแล้วกว่า 50 ประเทศทั่วโลก หลักการดำเนินงานของแบรนด์จะมุ่งการคืนกลับสู่สังคมแบบยั่งยืนคือ CSR ก่อนจะมาทำธุรกิจแบรนด์กระเป๋าส่วนตัวได้ก่อตั้งมูลนิธิมหาสมุทรแห่งปัญญา เป็นองค์กรสาธารณกุศล ระยะเวลาการทำงานด้านนี้กว่า 12 ปี ก่อตั้งมูลนิธิมหาสมุทรแห่งปัญญาเมื่อ 31 ตุลาคม พ.ศ.2550 ตนเองได้เคยทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรขนาดใหญ่ ณ กรุงวอชิตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วได้เห็นว่าเงินบริจาคส่วนใหญ่หมดไปกับค่าบริหารจัดการ พอทั้งสองกลับมาถึงเมืองไทย เมื่อมีประสบการณ์จึงได้จัดตั้งมูลนิธิมหาสมุทรแห่งปัญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในพื้นที่ห่างไกล โดยเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องเริ่มจากการศึกษาที่ดี มูลนิธิจึงได้ขยายการช่วยเหลือด้านอาหารของนักเรียนหลังจากลงพื้นที่และทราบจากคุณครูว่าเด็กๆ นักเรียนไม่ได้ทานอาหารเช้า มูลนิธิได้นำเงินบริจาคช่วยเหลือโครงการต่างๆ เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์เด็กมากที่สุด โดยเน้นการบริหารจัดการที่ลดขั้นตอน ไม่นำเงินไปใช้กับสิ่งที่ไม่จำเป็น และการบริหารโครงการที่โปร่งใส

แบรนด์ borboleta ต้องขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่อุดหนุนเพราะทุกใบที่จำหน่ายลูกค้าจะได้ร่วมทำบุญ และนำไปสนับสนุนให้เด็กที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ภายใต้มูลนิธิมหาสมุทรแห่งปัญญาที่ได้ก่อตั้งขึ้นมา อาทิ โครงการอาหารเช้าเพิ่มพลังสมอง หลังจากที่มูลนิธิได้ดำเนินการสนับสนุนด้านการศึกษามากว่า 5 ปี ได้สังเกตเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ซึ่งมีผู้ปกครองเป็นชาวเขา หรือแรงงานทั่วไป ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน เพราะผู้ปกครองไม่มีเวลาจัดเตรียม หรือไม่มีเงินเพียงพอ เด็กๆ จึงต้องทนหิวไปจนถึงเที่ยง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนเรียนไม่รู้เรื่อง เด็กส่วนมากเดินหรือปั่นจักรยานมาโรงเรียนกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อต้องหิ้วท้องรอเป็นเวลาหลายชั่วโมงไปถึงเวลาอาหารเที่ยง ทำให้เด็กๆ ทรมานกันมาก มูลนิธิจึงรีบจัดโครงการอาหารเช้าเพื่อให้เด็กๆ ท้องอิ่ม

นอกจากนี้ มูลนิธิยังมีโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

เช่น บริจาคซอฟต์แวร์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ บริจาคหนังสือเข้าห้องสมุด  จัดกิจกรรมสอนศิลปะ สอนวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ส่วนมากนักเรียนเรียนจากทีวี (โครงการสอนผ่านดาวเทียม) นักเรียนจึงไม่ได้มีโอกาสได้ทดลองหรือจับต้องงานวิทยาศาสตร์ ทางมูลนิธิจึงได้เข้าไปสนับสนุน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษานักเรียนในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม ได้เล็งเห็นเรื่องโครงการน้ำดื่มสะอาด จากการวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ห่างไกลก็ยังขาดการดื่มน้ำสะอาด จึงได้พิจารณาโรงเรียนที่มูลนิธิดูแล และเกิดโครงการที่ 3 ขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้น้ำดื่มสะอาด เนื่องจากน้ำมีดินแดงผสมอยู่ปริมาณสูง ทำให้ต้องใช้เครื่องกรองน้ำดื่มที่มีประสิทธิภาพ และด้วยราคาสูงกว่าที่งบของโรงเรียนสามารถจัดสรรได้ มูลนิธิจึงเข้ามาดูแลเพื่อจัดหาเครื่องกรองน้ำ RO ที่ดีที่สุดในการกรองน้ำให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้ดื่มน้ำสะอาด เพื่อป้องกันโรคที่อาจมาจากน้ำไม่สะอาดอีกด้วย และโครงการสุดท้ายมุ่งการบริจาคช่วยเหลือค่าบริหารจัดการ เนื่องจากมูลนิธิไม่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เงินบริจาค 100% เข้าโครงการเพื่อเด็กทั้งหมด มูลนิธิมหาสมุทรแห่งปัญญา จึงเกิดจากความปรารถนาดีและเป็นความสุขของตนเองเพื่อจะทำให้แก่เยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ขาดความช่วยเหลือ ดังนั้นการทำธุรกิจของเราจึงมีแรงบันดาลใจเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือสังคมแบบยั่งยืนแบบนี้ต่อไป" นางสาววโรณิกา จูน เรซ กล่าวสรุป.


ที่มา : https://www.ryt9.com/s/tpd/3030666

ข่าวรายวัน,สิ่งทอ,โมเดลธุรกิจ,กระเป๋า,borboleta,รักษ์โลก,สังคมแบบยั่งยืน