หน้าแรก / THTI Insight / ข่าวรายวัน / สวัสดิภาพคนงานในประเทศกำลังพัฒนาและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย คือ ต้นทุนที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในเสื้อผ้าแบรนด์ดัง-ราคาถูก

สวัสดิภาพคนงานในประเทศกำลังพัฒนาและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย คือ ต้นทุนที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในเสื้อผ้าแบรนด์ดัง-ราคาถูก

กลับหน้าหลัก
19.08.2562 | จำนวนผู้เข้าชม 337

สวัสดิภาพคนงานในประเทศกำลังพัฒนาและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย คือ ต้นทุนที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในเสื้อผ้าแบรนด์ดัง-ราคาถูก

ชาวฝรั่งเศสหรือชาวอิตาลีอาจคิดว่าพวกเขาเป็นผู้นำแฟชั่นแถวหน้าในยุโรป แต่ที่จริงแล้ว ชาวอังกฤษต่างหาก ที่ใช้จ่ายเงินกับการซื้อเสื้อผ้ามากที่สุด


คนอังกฤษซื้อเสื้อผ้ามากกว่าเพื่อนบ้านชาติอื่น ๆ และมากกว่าคนอังกฤษในสมัยทศวรรษ 1980 ราว 5 เท่าตัว จากเดิมที่เคยซื้อเสื้อผ้าใหม่วันเงินเดือนออก ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำกันทุกสุดสัปดาห์ หรือบางทีก็บ่อยกว่านั้น


เสื้อผ้าจำนวนมากที่วางขายตามย่านการค้าของแต่ละชุมชนมีราคาต่ำกว่า 10 ปอนด์ และคุณอาจหาซื้อบิกินีได้ในราคาตัวละ 1 ปอนด์เท่านั้น


โลกาภิวัตน์ ทำให้มีการผลิตสิ่งของจากประเทศที่ห่างไกลด้วยต้นทุนต่ำ ทำให้สินค้ามีราคาถูกลงและมีทางเลือกให้คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น


แต่ราคาที่ถูกขนาดนั้นเป็นไปได้อย่างไร แล้วนิสัยการจับจ่ายใช้สอยของเราทำให้เกิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและอุตสาหกรรมแฟชั่น อาจกลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมได้


รายการทูเดย์ทางบีบีซี เรดิโอ 4 ได้นำเสนอรายงานเชิงสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ โดยพาเราเดินทางจากสเปนไปถึงเอธิโอเปีย เพื่อสำรวจว่าโลกของเรา และผู้คนที่ยากจนที่สุดในโลกบางส่วน กำลังแบกรับภาระจากความกระหายในแฟชั่นอย่างบ้าคลั่งของเรา แล้วเราควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร


พวกเขาผลิตอย่างไร

แบรนด์ต่าง ๆ เผชิญแรงกดดันในการผลิตเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่นบนแคตวอล์กในราคาที่ถูก และยังต้องสร้างกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น ทำให้พวกเขาต้องแย่งกันหา แหล่งผลิตที่ถูกที่สุดทั่วโลก

ในปี 2014 โลกต้องตกตะลึงกับชะตากรรมของคนที่ตัดเย็บเสื้อผ้าให้เรา เมื่อคนงาน 1,138 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุโรงงานผลิตเสื้อผ้ารานาพลาซ่าพังถล่มในบังกลาเทศ


โศกนาฏกรรมนี้ทำให้มีตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น และมีการกดดันให้ปรับปรุงสภาพการทำงาน ผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่บางราย อย่าง H&M และ Converse เริ่มมีการทำบัญชีรายชื่อผู้ที่ผลิตเสื้อผ้าให้แก่ทางแบรนด์ และผู้รับจ้างช่วงรายต่าง ๆ ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนหลายพันราย เพื่อรับมือกับการเรียกร้องให้มีการเพิ่มความโปร่งใส


เหมือนกับยุคโรงงานนรกในอดีตหรือไม่

แนวโน้มที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เกิดผลที่ตามมาโดยไม่มีใครคาดคิด ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในบังกลาเทศทำให้หลายบริษัทมองหาแหล่งผลิตใหม่เพื่อรักษาต้นทุนที่ต่ำไว้


ตัวอย่าง เช่น เอธิโอเปีย ที่มีค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1 ใน 3 ของค่าแรงในบังกลาเทศ อัตราค่าแรงไม่ถึง 7 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เป็นเรื่องปกติของที่นี่ คนงานหลายคนที่โรงงานแห่งหนึ่งใกล้กับกรุงแอดดิส อาบาบา เล่าให้เราฟังโดยไม่เปิดเผยชื่อว่า รายได้เท่านี้ ไม่เพียงพอสำหรับการยังชีพ


พวกเขายังเล่าถึงสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ตั้งแต่ห้องน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะไปจนถึงการใช้คำพูดหยาบคาย


สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้กลุ่ม Workers Rights Consortium ซึ่งรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานระหว่างประเทศให้ความสนใจ เปเนโลเป ไคริตซิส ซึ่งเขียนรายงาน บอกว่า มีแรงงานที่ถูกยึดค่าแรงจากการทำงานล่วงเวลาเอาไว้ และมีผู้หญิงที่ถูกผู้จัดการมาลูบคลำที่ท้องเพื่อตรวจสอบว่าพวกเธอกำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ เธออ้างว่า แทบไม่มีอะไรดีขึ้น นับตั้งแต่มีการออกรายงานชิ้นนี้มาเมื่อหลายเดือนก่อน


รัฐบาลเอธิโอเปียได้ใช้ต้นทุนค่าแรงที่ต่ำสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

แต่ไคริตซิส บอกว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอของเอธิโอเปีย ไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่า อย่างน้อย ก็ทำให้คนมีรายได้ ขณะที่ไม่มีงานอย่างอื่นทำ


โดยเธอบอกว่า มีคนจำนวนมากที่ออกจากการทำงานภาครัฐไปทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ หรือในภาคการเกษตร


ออร์โซลา เด คาสโตร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Fashion Revolution ได้ใช้จังหวะช่วงที่เกิดเหตุรานาพลาซ่าพังถล่ม รณรงค์ให้ลูกค้าส่งโปสการ์ดตั้งคำถามต่าง ๆ ต่อแบรนด์เสื้อผ้าที่ตัวเองชื่นชอบ


"มีความเข้าใจผิด 2 เรื่องใหญ่ เมื่อพูดถึงเรื่องความยั่งยืนและจริยธรรม อย่างแรกคือ ผู้ร้ายคือแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปล่อยให้ภาคสินค้าหรูทำผิดโดยไม่มีการลงโทษ ทั้งที่ความจริงแล้ว อุตสาหกรรมแฟชั่นของเอธิโอเปียทั้งหมดจะต้องถูกตั้งคำถาม" เธอบอกกับ บีบีซี


"อีกเรื่องหนึ่งคือ การที่บอกว่า การผลิตภายในประเทศไม่ได้ละเมิดจริยธรรมและมีความยั่งยืน มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย"


แล้วต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเล่า

มีการอ้างว่า การผลิตเสื้อผ้าส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มากกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกันเสียอีก มีผลกระทบเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ของวงจรการผลิตเสื้อผ้า 1 ชิ้น ทั้งการหาแหล่งผลิต การผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย การใช้งาน และการกำจัดทิ้ง


เมื่อพูดถึงเส้นใยผ้าพื้นฐานที่ถูกนำมาใช้ มันไม่ได้มีแค่ฝ้ายกับใยสังเคราะห์ ฝ้ายเป็นพืชผลทางการเกษตรที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก


ตามที่ คณะกรรมการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมของสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรระบุไว้ในรายงานเมื่อไม่นานนี้ เสื้อเชิ้ต 1 ตัว และกางเกงยีนส์ 1 ตัว อาจต้องใช้น้ำมากถึง 20,000 ลิตรในการผลิต และมีการสรุปว่า "สิ่งที่เรากำลังสวมใส่โดยไม่รู้ตัวนั้น มาจากน้ำจืดของเอเชียกลาง"

ส่วนเสื้อที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์จากพลาสติกก็ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนที่สูงกว่ามาก การขนส่งสินค้าทำให้มีการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น และการย้อมผ้าก็ทำให้เกิดมลพิษมากขึ้นด้วย


เส้นใยพลาสติกขนาดเล็กที่ถูกปล่อยลงไปในน้ำ กำลังกลายเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น การซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้า 1 ครั้ง อาจทิ้งเส้นใยเหล่านี้ออกไปหลายแสนเส้นใย


นอกจากนี้ ยังมีเสื้อผ้าอีกหลายล้านตันที่ถูกทิ้งในแต่ละปีในสหราชอาณาจักร ในจำนวนนี้ 20% กลายเป็นขยะ


การจัดการกับปัญหานี้คือความรับผิดชอบของใคร


รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่

คณะกรรมการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมของสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรได้มีข้อเสนอแนะ 18 ข้อ นับตั้งแต่การเก็บภาษีจากการขายเสื้อผ้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิล ไปจนถึงการลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับบริการซ่อมแซมเสื้อผ้า และการสอนเย็บผ้าในโรงเรียน แต่ข้อเสนอแนะเหล่านี้ก็ยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติ


ผู้ไม่เห็นด้วยบอกว่า ถ้าเราเอาจริงกับเรื่องแฟชั่นที่ยั่งยืน วัตถุประสงค์ของนโยบายควรจะโน้มน้าวให้เราซื้อน้อยลง ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการที่มากกว่านี้ อาจจะต้องเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมกับเสื้อผ้า แต่เมื่อพิจารณาถึงการที่ย่านการค้าขาดความคึกคัก และการที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพาการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ก็เป็นเรื่องยากที่นักการเมืองจะผลักดันเรื่องนี้


ปัจจุบัน รัฐบาลสนับสนุนแนวทางสมัครใจ โดยส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้ารายย่อยลงทะเบียนเข้าร่วมแผนปฏิบัติการผลิตเสื้อผ้าเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Clothing Action Plan) แต่ผู้ที่ลงทะเบียนมีไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้ผลิตในตลาดสหราชอาณาจักร


ภาคธุรกิจกำลังทำอะไร

ขณะที่มีแรงกดดันจากลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น บรรดาผู้ผลิตต่าง ๆ ก็เริ่มมีการดำเนินการหลายอย่างเกิดขึ้น

เมือง อา โกรูญา (A Coruna) เมืองชายฝั่งของสเปน เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ Inditex ซึ่งมี Zara เป็นแบรนด์หลัก


เริ่มจากการผลิตเสื้อผ้าขนาดเล็ก ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ยิ่งไปกว่านั้น Zara ได้เปลี่ยนรูปแบบการซื้อสินค้า ด้วยการผลิตเสื้อผ้าตามแบบที่เห็นบนแคตวอล์กมาวางจำหน่ายในย่านการค้าได้ภายใน 3 สัปดาห์ ด้วยราคาที่คนทั่วไปหาซื้อได้


เมื่อไม่นานนี้ Zara รับปากว่า จะเปลี่ยนไปใช้เส้นใยที่มีความยั่งยืน 100% ภายในปี 2025 แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ Inditex ผู้ผลิตรายต่าง ๆ ตั้งแต่ H&M ไปจนถึง M&S ต่างก็กำลังพยายามพัฒนาแหล่งที่มาของสินค้าและกระบวนการผลิต


นี่เป็นเพียงการสร้างภาพรักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ผู้ผลิตรายใหญ่บางรายดูเหมือนว่า เข้ามามีส่วนร่วมหรือดำเนินการบางอย่าง แต่หัวใจของการทำธุรกิจของพวกเขาก็คือ ความใหม่ การโน้มน้าวให้เราต้องซื้อของชิ้นใหม่เรื่อยไป หากต้องการโน้มน้าวเรา ความรับผิดชอบของผู้ผลิตคือ ควรโน้มน้าวให้เราลดการซื้อลงหรือไม่


ปาโบล อิสลา จาก Zara แย้งว่าไม่ใช่อย่างนั้น ผู้ผลิตเพียงแค่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และลูกค้าควรจะมีอิสระในการเลือก


แล้วลูกค้าล่ะ

กลุ่ม Extinction Rebellion ได้มาจัดการประท้วงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ด้านนอกร้านค้าของแบรนด์ต่าง ๆ นักออกแบบหน้าใหม่ที่ลอนดอนคอลเลจออฟแฟชั่น (London College of Fashion) บอกเราว่า พวกเขากำลังเข้าร่วมการ "สไตรก์ทางแฟชั่น" ด้วยการงดใช้เงินนานหลายเดือน หรืออาจจะถึงปี การทำเช่นนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีการให้ความสำคัญกับการซื้อเสื้อผ้าที่ดีขึ้น และใช้ของเท่าที่มี และซ่อมแซมเสื้อผ้าเก่า


หนึ่งในนักออกแบบที่เราพบ ถึงขั้นทำเสื้อผ้าจากเต็นท์จำนวนมากที่ถูกทิ้งไว้ตามเทศกาลดนตรี

แต่นั่นอาจจะไม่เพียงพอ ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ทางโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมจากผู้คนเพิ่มมากขึ้น ความกังวลเรื่องผลกระทบของอินฟลูเอนเซอร์ที่มีต่อทัศนคติในการจับจ่ายใช้สอยของเราก็มากขึ้นไปด้วย


อินฟลูเอนเซอร์ 1 ใน 6 คน ยอมรับว่า จะไม่สวมใส่ชุดเดิมซ้ำออกโซเชียลมีเดีย


ลิเวีย เฟิร์ธ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เคยสวมชุดที่ใช้เส้นใยที่รักษาสิ่งแวดล้อม ปรากฏตัวบนพรมแดงเคียงข้าง โคลิน สามีของเธอ รวมถึงถือกระเป๋าถือที่ทำจากหนังปลา เธอยังโน้มน้าวให้สามีสวมชุดทักซีโดที่ทำจากขวดรีไซเคิลด้วย เธอบอกว่า อินฟลูเอนเซอร์จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธี โดยบอกว่า "ถ้า คิม คาร์เดเชียน ส่งเสริมแฟชั่นที่รักษาสิ่งแวดล้อม ฉันก็คงเลิกทำงานได้"


เธอเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของเรากับแฟชั่นว่า เหมือนกับการเสพติด เธออาจจะพูดถูกก็ได้ เมื่อดูจากการคาดการณ์ที่ว่า ความต้องการเสื้อผ้าจะเพิ่มสูงขึ้นเทียบเท่ากับ เสื้อยืด 5 แสนล้านตัวในช่วง 10 ปีข้างหน้า


แต่ขณะนี้ ยังไม่มีใครหาทางแก้ปัญหาได้


ที่มา : https://www.bbc.com/thai/international-49278133

ข่าวรายวัน,สิ่งทอ,เสื้อผ้า,สวัสดิภาพ,แรงงาน,ประเทศกำลังพัฒนา,สิ่งแวดล้อม