“Circular Fashion”
อุตสาหกรรมแฟชั่น กำลังถูกจับตามองว่าเป็นดาวร้ายดวงใหม่ในวงการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ Fast Fashion ซึ่งเป็นเสื้อผ้าราคาถูก ซื้อง่าย มาไว ไปไว สุดท้ายกลายเป็น “ขยะแฟชั่น” world economic forum ได้นำเสนอข้อมูลของอุตสาหกรรมแฟชั่นว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีการผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เสื้อผ้าเหล่านี้มีช่วงเวลาใช้งานลดลงถึง 40% ก่อนจะทิ้งไปเป็นขยะ ขยะของเสื้อผ้าจะถูกนำไปกำจัดด้วยการเผาหรือฝังกลบ 75% นำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ย่อยเป็นชิ้นเล็กๆเพื่อยัดฟูก ทำเป็นฉนวน หรือผ้าเช็ดทำความสะอาดประมาณ 12% และขยะเหล่านี้มีไม่ถึง 1% ที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลผลิตเป็นเสื้อใหม่
ที่มา(ภาพ) : https://dress-raleigh.myshopify.com/blogs/news/why-choose-consignment
แนวคิดในการจัดการปัญหาขยะแฟชั่นที่เกิดขึ้นทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าและขายต่อเสื้อผ้า หรือการขายเสื้อผ้ามือสอง (Clothing rental and resale) กำลังเป็นธุรกิจที่มาแรง ตัวอย่างแบรนด์ เช่น RealReal, Rent the Runway, Depop, Thredup หรือ แบรนด์กระเป๋า Freitag จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่โด่ดเด่นในเรื่องการใช้วัสดุรีไซเคิล โดยนำผ้าใบของรถบรรทุกมาเป็นวัตถุดิบในการทำกระเป๋า เป็นที่นิยมในหมู่เด็กวัยรุ่นและคนรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนี้แบรนด์ยอดนิยมที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ก็แสดงตัวในเรื่องการมีส่วนร่วมรักษ์โลก มีการนำนโยบาย Circular Economy มาใช้ เช่น Nike มีการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า ประมาณ 71% Adidas มีการผลิตรองเท้าผ้าใบที่ทำจากขยะพลาสติกในมหาสมุทร H&M ได้ตั้งเป้าธุรกิจให้เป็น Circular 100% Patagonia มีโครงการ “The Worn Wear Program” เพื่อซ่อมแซมชุดให้ใช้ต่อไปได้ หากไม่สามารถซ่อมได้ Patagonia จะนำไปรีไซเคิลให้คุ้มค่าที่สุด
Circular Fashion คือ???
แนวโน้มรูปแบบของเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็น Linear Economy คือ นำวัตถุดิบใหม่เพื่อทำการผลิตหลังจากใช้งานแล้วจะนำไปทิ้งทำลาย (Make Use Dispose) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบทางเดียว ให้กลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยจะหมุนเวียนวัตถุดิบในระบบ พยายามที่จะไม่นำเอาวัตถุดิบใหม่เข้ามาในกระบวนการผลิต แต่นำเอาของที่ใช้แล้วเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบ (Re-material) ทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ (Make Use Return) เพื่อเป็นการลดการใช้ทรัพยากรที่กำลังหมดไป และไม่ต้องกำจัดขยะที่กำจัดเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที
เมื่อนำเอารูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น จึงเรียกว่า “Circular Fashion” ซึ่งได้รับความสนใจจากแบรนด์ต่างๆ มากมาย ในส่วนของผู้ใช้เองก็ให้ความสนใจเช่นกัน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับในเรื่องของ Circular Fashion มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น เช่น กรณีของ Thredup ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายออนไลน์ คาดการณ์ว่า ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนประเภท Resale Market จะมีมูลค่าโดยรวมสูงถึง 41 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2022 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขายเป็นกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสูงถึง 49% นิตยสาร Forbes ระบุว่า ร้านขายสินค้ามือสองเป็นธุรกิจขายปลีกที่โตเร็วที่สุด ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2018 เติบโตสูงถึง 7.6% ซึ่งสูงกว่ามูลค่าในปี 2017 ถึง 11.6%
แนวทางการพัฒนาสู่ Circular Fashion
ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน(circular economy) มีความแตกต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิม (linear economy) 3 ด้าน ได้แก่
1) ที่มาของวัตถุดิบและทรัพยากรการผลิต ในระบบเดิมนั้นวัตถุดิบหรือทรัพยากรจะเป็นของใหม่ แต่ในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ของเหลือ หรือขยะก็เป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบหรือทรัพยากรได้ ดังนั้นการออกแบบ (Circular design)และการเลือกใช้เทคโนโลยีจึงมีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้ทรัพยากรสามารถนำกลับเข้ามาในระบบ (Take-Back system) และสามารถคงมูลค่าของวัตถุดิบหรือทรัพยากรไว้ในระบบให้นานที่สุด
2) โมเดลธุรกิจ จากเดิมผู้บริโภคจะเป็นผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้บริโภคจะเป็นผู้ถือครองทรัพยากรที่สามารถนำไปผลิตของได้ใหม่ ฉะนั้นภาคธุรกิจจึงต้องออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าส่งคืนสินค้าเพื่อที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหรือทรัพยากรในการผลิตใหม่ เช่น การนำผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาให้บริการในรูปแบบการเช่าหรือ “การจ่ายเมื่อใช้งาน” (pay-for-use) แทนการซื้อขาด ทำให้ผู้ผลิตสามารถนำเอาผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้
3) วิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ธุรกิจในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่รอดได้ วิสัยทัศน์ในด้านความยั่งยืนนี้จะต้องแสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาทรัพยากร ขยะ และขีดจำกัดของธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไม่มีประสิทธิภาพ
แนวทางทั้ง 3 ด้านนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น และเป็นจุดขายที่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้ เกาะกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยได้เห็นความสำคัญและเริ่มตื่นตัวในเรื่อง Circular Fashion มากขึ้น เช่น แบรนด์รองเท้า ทะเลจร (Tlejourn) จากปัตตานี ที่นำขยะจากทะเลมาผลิตเป็นรองเท้า รวมถึงมีโครงการจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น SCG ปตท.ที่มีการสนับสนุนให้พัฒนาสินค้าสิ่งทอ เช่น เสื้อ T-shirt จากขวดพลาสติกหรือขยะในทะเล รวมถึงภาครัฐก็ให้ความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมมีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการ “B L I S S” Project เพื่อผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
จัดทำและเรียบเรียงโดย : จุฑามาศ โกเมนไทย (ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ)
---------------------------------------------
อ้างอิง :-
https://marketeeronline.co/archives/4371
https://www.shwrm.com/themagazine/circular-fashion/
https://www.makegood.world/article-circular-fashion
https://www.vogue.co.th/celine-ss-2020
https://marketeeronline.co/archives/4371
https://fashionista.com/2018/04/resale-clothing-market-thredup-report-2018
https://www.salika.co/2018/11/24/circular-economy-business-model-change-the-world/
https://sdthailand.com/2018/05/new-model-biz-techno-circular-economy/
http://www.salforest.com/blog/circulareconomy-challenges