หน้าแรก / นวัตกรรม / เซลลูโลสประดิษฐ์จากชานอ้อย

เซลลูโลสประดิษฐ์จากชานอ้อย

หนังสือเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติจากพืช มีเป้าประสงค์ให้เป็นหนังสือวิชาการให้ความรู้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและผู้สนใจในเรื่องของการนำวัตถุดิบทางเกษตรมาพัฒนาเป็นเส้นใยธรรมชาติสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 เล่ม คือ 1. การปรับปรุงคุณภาพเส้นใยพืช 2. เซลลูโลสประดิษฐ์จากชานอ้อย 3. การปั่นด้ายใยสั้นชนิดยาวจากพืช และ 4. ผ้าไม่ทอจากใยธรรมชาติ

คำนำ
 
อ้อย เป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของประเทศไทย โดยเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมน้ำตาล ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกน้ำตาลจากอ้อยเป็นลำดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล และในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลมากกว่า 10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี พ.ศ. 2557จากโรงงานผลิตน้ำตาลดิบและน้ำตาลทรายขาวทั่วประเทศ 49 โรงงาน  และตั้งแต่ปีการผลิต 2549/2550 ถึง 2557/2558 พื้นที่ปลูกอ้อยในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่จากปลูกข้าวในเขตไม่เหมาะสมมาเป็นการปลูกอ้อย ทำให้มีพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกอ้อยเพิ่มเติม และอนุญาตให้มีการสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น  ดังนั้นปริมาณชานอ้อยซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อยจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละปี และจากวิกฤตการณ์โลกร้อนและการลดลงของปิโตรเลียมซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถเกิดขึ้นมาใหม่ได้  จึงมีการประยุกต์ใช้ชานอ้อยในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชานอ้อยและใช้ชานอ้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น อุตสาหกรรมผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อโดนความร้อน  อุตสาหกรรมผลิตไม้แปรรูป โดยการผลิตไม้อัดและเฟอร์นิเจอร์จากชานอ้อย อุตสาหกรรมผลิตเอธานอลสำหรับผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ และใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น  อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งแล้วยังเป็นการพัฒนาสิ่งทอเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบันด้วย จากการรวบรวมข้อมูลของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พบว่า ชานอ้อยเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีศักยภาพในปัจจุบันสำหรับประเทศไทยที่จะนำมาพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ  โดยชานอ้อยสามารถนำมาผลิตเป็นเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์ได้  ดังนั้นบทความฉบับนี้ จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ได้รวบรวมจากเอกสารวิชาการและการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผลิตเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์จากชานอ้อย เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจในการพัฒนาเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์จากชานอ้อย และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
 
ศศิประภา  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
กันยายน 2559