หน้าแรก / THTI Activities / Bangkok Roadshow : Innovative Textiles Product

Bangkok Roadshow : Innovative Textiles Product

21.08.2563 | จำนวนผู้เข้าชม 1013

21 สิงหาคม 2563 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดกิจกรรม Bangkok Roadshow : Innovative Textiles Product  โดยผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่ได้มาตรฐาน และผู้เข้าร่วมโครงการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (Thailand Textiles Tag) รวม 32 บูธ ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ถนนวิภาวดีรังสิต โดยได้รับเกียรติจาก
          รองประธานสภากรุงเทพมหานคร (พล.อ.โกญจนาถ จุณณะภาต) กล่าวเปิดงาน
          เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดร. เกรียงพล พัฒนรัฐ)  กล่าวต้อนรับ
           ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล) กล่าวถึง กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (Thailand Textiles Tag) 
          ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน
 
โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (พลตำรวจโท ประสบโชค พร้อมมูล) ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย (นายจำนงค์  นวสมิตวงศ์)  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ สภาอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย (นายสมศักดิ์ ศรีสุภรณ์วณิชย์) นายกสมาคมและเครือข่ายอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นายคมสรรค์ วิจิตรวิกรม รองประธานอนุกรรมการฯ แก้ไขปัญหาโควิด-19 พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคม สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย ผู้แทนผู้อำนวยการเขต 50 เขต เครือข่ายปันสุขและ Smart city สำนักการศึกษาเข้าร่วมอย่างคึกคัก

สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ทั้งในประเทศและการส่งออกเป็นอย่างมาก สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงมีแนวคิดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ที่มีนวัตกรรมและได้มาตรฐานการรับรองให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักแพร่หลาย จึงส่งเสริมให้มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม โดยได้รับโอกาสจาก กรุงเทพมหานคร  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสนใจผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่คุณสมบัติพิเศษ มีนวัตกรรม ตอบโจทย์การแพทย์ สาธารณสุข ชุดเสื้อผ้าสวมใส่ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ที่ผลิตในประเทศ

สถาบันฯสิ่งทอ จึงได้ประสานงานและหารือความร่วมมือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จึงได้กำหนดงาน Bangkok Roadshow  :  Innovative Textiles Product โดยผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่ได้มาตรฐาน และผู้เข้าร่วมโครงการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (Thailand Textiles Tag) ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ถ.วิภาวดีรังสิต
 
ประเด็นสำคัญในการจัดงาน
1. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมีศักยภาพสูง
          อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในปัจจุบัน เกิดการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการมีศักยภาพและสามารถนำนวัตกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีมูลค่าและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้เกิด New normal lifestyle ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการแพทย์ และสาธารณสุข สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มที่มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยปกป้องดูแลสุขอนามัย รวมทั้งผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่จำเป็นและต้องใช้สวมใส่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เพื่อความปลอดภัย สิ่งทอทางการกีฬา สิ่งทอเพื่อธุรกิจสปาและการโรงแรมและการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสิ่งทอ ฯลฯ
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดง
Medical Textileสิ่งทอทางการแพทย์ , Protective Textile สิ่งทอเพื่อการปกป้อง , Sportech สิ่งทอเพื่อการกีฬา , Function Textile สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ , Smart Fabric และ Lifestyle  
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เช่น  ชุด PPE ทางการแพทย์ , หน้ากากผ้า Smart Fabric , สิ่งทอกันลามไฟ , สิ่งทอต้านเชื้อแบคทีเรีย , สิ่งทอกันยูวี , ชุดกีฬาคุณสมบัติพิเศษ , ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล ,
รวมผู้ประกอบการเข้าร่วม 32 บูธ
2. การจัดทำตราสัญลักษณ์ ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tagโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรณรงค์ให้  “ไทยใช้สิ่งทอไทย”
          กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในทุกอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ จึงพร้อมเชื่อมโยงและผลักดัน โดยในปี 2563 นี้ ได้ดำเนินโครงการกิจกรรม พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม พร้อมจัดทำตราสัญลักษณ์ ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tagเพื่อเร่งสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เพื่อขอรับฉลาก Thailand Textiles Tagนี้ โดยมีหลักเกณฑ์ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้า ความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้และกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้ง เส้นด้ายที่ผลิตในประเทศไทย (Yarn Forward)  และผ้าผืนที่ผลิตในประเทศไทย (Fabric Forward)โดยต้องผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ พร้อมรณรงค์ให้เกิดค่านิยม “ไทยใช้สิ่งทอไทย” นำไปสู่การฟื้นฟูระบบการค้าในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยทั้งระบบ 
 
3. กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญทางด้าน “สาธารณสุขนำ เศรษฐกิจ สังคม และเตรียมเปิดการท่องเที่ยวใน กทม.”
        กทม. เปิดโอกาสให้ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยได้เข้ามาร่วมแสดงศักยภาพ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในองค์กร และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้เห็นถึงเทคโนโลยีและศักยภาพของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีมาตรฐาน และ ฉลากคุณภาพสิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tag ซึ่งในอนาคตสามารถเชื่อมโยงและสนับสนุนให้เกิดการบริโภคผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตภายในประเทศ ช่วยขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจภายในประเทศ สอดรับกับนโยบายของภาครัฐ  

 

สิ่งทอ,สิ่งทอ